ตรวจสอบงานฐานราก ตอม่อ
“ ฐานรากที่ดี คือ รากฐานที่มั่นคง เพื่องานก่อสร้างที่ยั่งยืน ”
โครงสร้างใต้ดินของอาคารเปรียบเสมือนรากฐานสำคัญที่ช่วยให้อาคารหรือบ้านคงทนแข็งแรง และสามารถรองรับน้ำหนักทั้งหมดของโครงสร้างได้อย่างมั่นคง การตรวจสอบงาน ฐานราก และ ตอม่อ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในโครงการ สร้างบ้านหรือโครงการก่อสร้างอื่นๆ เพราะนอกจากจะเป็นการถ่ายน้ำหนักของโครงสร้างสู่พื้นดินแล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้อาคารเกิดการลื่นไถลหรือพลิกคว่ำ ซึ่งอาจเกิดจากแรงธรรมชาติเช่น แรงลม แรงดันดิน หรือแม้แต่แรงแผ่นดินไหว ซึ่งการตรวจสอบที่รอบคอบ และดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดจะช่วยให้โครงสร้างใต้ดินของบ้าน หรืออาคารคุณเป็นรากฐานที่มั่นคง และช่วยให้โครงการก่อสร้างดำเนินไปอย่างราบรื่น และปลอดภัยในระยะยาว
ความเข้าใจพื้นฐาน
ฐานรากเป็นส่วนของโครงสร้างที่อยู่ใต้ผิวดิน มีหน้าที่สำคัญในการกระจายน้ำหนักจากส่วนบนของอาคาร จากหลังคา ลงมาที่เสา พื้นและผนังลงไปที่คาน ทั้งหมดรวมมาที่ตอม่อ แล้วลงสู่พื้นดิน และรองรับแรงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับอาคาร เช่น แรงลม แรงดันดิน หรือแรงจากแผ่นดินไหว ฐานรากมักสร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีวัสดุส่วนผสม และวิธีการที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรม
มาตรฐาน และข้อกำหนดวัสดุ
- คอนกรีตฐานราก
ใช้คอนกรีตผสมเสร็จที่มีกำลังอัดประลัยตามที่ผู้ออกแบบกำหนด หรืออย่างน้อย 210 ksc. (สำหรับทรงกระบอก) เพื่อความแข็งแรง และปลอดภัย - ระยะหุ้มที่ปลอดภัย
ระยะหุ้ม ไม่ต่ำกว่า 5 cm. หรือตามที่ผู้ออกแบบกำหนด เนื่องจากงานโครงสร้างใต้ดิน จะสัมผัสกับความชื้นในดินได้ตลอดเวลา ทำให้เหล็กมีโอกาสเกิดสนิมได้มากกว่าจุดอื่น จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ อ่านระยะหุ้ม ลูกปูน สำคัญอย่างไรกับงานโครงสร้าง
- คอนกรีตหยาบใต้ฐานราก (Lean Concrete)
ใช้อัตราส่วนผสม 1:3:5 (ปูนซีเมนต์ 1 ส่วน : ทรายหยาบ 3 ส่วน : หิน 5 ส่วน) เพื่อเตรียมพื้นฐานก่อนเทฐานรากหลัก - ทรายและหิน
วัสดุที่นำมาผสมต้องสะอาด ปราศจากสิ่งสกปรกที่อาจส่งผลต่อคุณภาพของคอนกรีต - น้ำสำหรับผสมคอนกรีต
ต้องใช้เฉพาะน้ำสะอาดที่ไม่มีสารเจือปน เพื่อป้องกันปัญหาการเสื่อมสภาพของคอนกรีตในระยะยาว - เหล็กเสริมคอนกรีต
ต้องมีขนาดและลักษณะตามที่ระบุในแบบก่อสร้าง เพื่อให้รองรับน้ำหนักได้อย่างเหมาะสม
วิธีการตรวจสอบ
- เตรียมหลุมสำหรับเท Lean Concrete
ก่อนการเท Lean Concrete ต้องรองพื้นด้วยทรายและบดอัดให้แน่นเพื่อป้องกันการทรุดตัว - การสกัดหัวเสาเข็ม
หลังเท Lean Concrete แล้ว ต้องสกัดหัวเสาเข็มที่เกินระดับที่ต้องการออก โดยใช้ไฟเบอร์ช่วยตัดเพื่อความแม่นยำ - ตรวจสอบหัวเสาเข็ม
ตบแต่งหัวเสาเข็มให้ได้ระดับและมีลักษณะตามข้อกำหนด โดยเว้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงหลังเท Lean Concrete - การตั้งแบบหล่อ
ตรวจสอบการตั้งแบบหล่อให้มั่นคงและทำความสะอาดแบบหล่อทุกครั้งก่อนการเทคอนกรีต - ตรวจสอบเหล็กเสริม
วางเหล็กเสริมให้มีระยะห่างและตำแหน่งตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง - กำหนดศูนย์กลางเสาเข็ม
ตอกตะปูเพื่อยึดแนวกึ่งกลางเสาทั้งสองด้าน และใช้ไม้ล็อคศูนย์เสาอย่างน้อย 1 มุมฉาก - อนุมัติก่อนการเทคอนกรีต
การเทคอนกรีตต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อนทุกครั้ง - ป้องกันโพรงในคอนกรีต
ใช้เครื่องจี้คอนกรีตขณะเทเพื่อป้องกันการเกิดโพรง ซึ่งอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของฐานราก อ่านเครื่องจี้คอนกรีตเพิ่มเติม
รายการตรวจสอบที่สำคัญ
- ตำแหน่ง และแนวศูนย์กลางของฐานราก
หากพบว่าคลาดเคลื่อนจากแบบ ต้องปรึกษาผู้ออกแบบทันที - รายละเอียดการเสริมเหล็ก และขนาดของฐานราก
ต้องถูกต้องตามแบบก่อสร้างหรือคำสั่งของวิศวกร - การตกแต่งหัวเสาเข็ม
หัวเสาเข็มที่แตกหรือยังไม่ได้ระดับ ต้องทำการตกแต่งให้เรียบและได้ระดับโดยใช้ปูน Non-Shrink อ่านปูน Non-Shrink คืออะไร ต่างจากปูนทั่วไปอย่างไร - ผลการทดสอบเสาเข็ม (Seismic Test)
ต้องมีผลการทดสอบที่ผ่านเกณฑ์ยืนยันก่อนดำเนินงานต่อ อ่านทำไมต้องตรวจสอบ Seismic Test กับเสาเข็ม - ความหนาของ Lean Concrete
ต้องมีความหนาไม่น้อยกว่า 5 ซม. - คุณภาพของเนื้อคอนกรีต
ต้องไม่มีโพรงหรือรอยแตกร้าวจนเห็นเหล็กเสริม - การตรวจสอบก่อนการถมดิน
ก่อนถมดินกลบ ต้องแจ้งวิศวกรผู้ควบคุมงานเพื่อตรวจสอบสภาพผิวคอนกรีต
การตรวจสอบงาน โครงสร้างใต้ดิน ฐานราก-ตอม่อ เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของการก่อสร้างบ้าน หรืออาคาร โดยในบทความนี้จะเน้นไปที่การตรวจสอบงานฐานราก ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีพฤติกรรมการรับน้ำหนัก และถ่ายเทน้ำหนัก ต่างจากโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กในรูปแบบอื่น จึงมีข้อกำหนดที่ควรพิจารณาแตกต่างจากโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วไป ส่วนการตรวจสอบงานตอม่อ ที่แม้ว่าจะเป็นโครงสร้างที่อยู่ในกลุ่มโครงสร้างใต้ดินเช่นเดียวกับฐานราก แต่ก็มีพฤติกรรมการรับ และถ่ายเทน้ำน้ำหนักเช่นเดียวกับงานเสา จึงใช้หลักการตรวจสอบโครงสร้างบนดินในส่วนของงานตรวจสอบเสา ซึ่งอยู่ในหัวข้อถัดไปได้ การดำเนินงานตรวจสอบงานโครงสร้างตามมาตรฐาน และการตรวจสอบที่ละเอียดรอบคอบในทุกขั้นตอนจะช่วยให้โครงสร้างใต้ดินมีความมั่นคง และปลอดภัย ทำให้โครงการก่อสร้างเป็นไปอย่างราบรื่น และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ดูคลิป CM หรือ คอนเซาท์ในงานก่อสร้าง ช่วยอะไรคุณได้บ้าง? ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค วิศวะการันตี
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?