“ พื้น-คาน-เสา คือ โครงกระดูกของอาคาร จึงควรให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงให้อาคารอย่างยั่งยืน ”
ถ้าโครงสร้างใต้ดินของอาคารเปรียบได้กับเท้าของมนุษย์ที่ช่วยพยุงน้ำหนักทั้งหมดของร่างกายแล้ว โครงสร้างบนดิน ซึ่งได้แก่ พื้น-คาน-เสา ก็คงเปรียบเสมือนโครงกระดูก ที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงและรองรับน้ำหนักของส่วนต่างๆ ของอาคาร การตรวจสอบ และควบคุมงานในส่วนนี้โดย คอนเซาท์ หรือผู้ควบคุมงานก่อสร้างจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อรับประกันความแข็งแรงและความปลอดภัยของการ สร้างบ้าน หรือโครงการก่อสร้าง และทางวิศวกรุ๊ปก็มีบริการตรวจงานพื้น-คาน-เสา เป็นหนึ่งในบริการของเราด้วยเช่นกัน
ความเข้าใจพื้นฐาน
โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นโครงสร้างที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากคอนกรีตมีคุณสมบัติรับแรงอัดได้ดี แต่สามารถรับแรงดึงได้ต่ำ และมีความเปราะ ดังนั้นจึงต้องมี เหล็กเสริม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงสำหรับการรับแรงดึง โดยงานคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นประกอบไปด้วยส่วนสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาหลายส่วน เช่น งานคอนกรีต งานแบบหล่อ งานบ่มคอนกรีต งานเหล็กเสริมคอนกรีต และงานตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการตามมาตรฐานเพื่อให้โครงสร้างมั่นคง และยั่งยืน และในบริการตรวจงานพื้น-คาน-เสา นี้ก็จัดว่าเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งสิ้น
1. งานคอนกรีต
มาตรฐานและข้อกำหนดวัสดุ
- ใช้ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ คุณภาพสูง
- คอนกรีตผสมเสร็จ ควรเลือกใช้จากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้
- ทราย และหินต้องสะอาด ปราศจากสิ่งสกปรก
- น้ำที่ใช้ผสมคอนกรีตต้องเป็นน้ำประปาที่สะอาด
- มวลรวมต้องมีขนาด และส่วนคละที่เหมาะสม เช่น ใช้ หินเบอร์หนึ่ง (ขนาด ½” – ¾”) สำหรับโครงสร้างรอง และ หินเบอร์สอง (ขนาด ¾” – 1½”) สำหรับโครงสร้างหลัก
- หากมีการใช้สารผสมเพิ่ม เช่น สารกันซึมน้ำ,สารเร่งการก่อสร้าง, สารหน่วง ฯลฯ จะต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และตามวิธีการของบริษัทผู้ผลิต
- ค่าการยุบตัวของคอนกรีต กำหนดให้ใช้ดังนี้
- ฐานราก 3-7 cm.
- พื้น, คาน, ผนัง คสล. 4-10 cm.
- เสา 5-10 cm.
- ครีบ คสล. 5.5-12 cm.

รายการตรวจสอบงานคอนกรีต
- การผสมคอนกรีต
- สำหรับคาน พื้น และเสา ใช้อัตราส่วน 1:2:4 (ปูนซีเมนต์ : ทราย : หิน) หรือตามที่ผู้ออกแบบกำหนด
- สำหรับคอนกรีตหยาบ ใช้อัตราส่วน 1:3:5 หรือตามที่ผู้ออกแบบกำหนด
- กระบะตวงส่วนผสมคอนกรีต
- ใช้กระบะขนาดมาตรฐาน 35.5×35.5×30 ซม. และมีถังน้ำล้างหินเตรียมไว้
- การเทคอนกรีต
- ก่อนการเทคอนกรีตโครงสร้าง ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อน และคอนกรีตต้องมีค่ากำลังรับแรงอัด (fc’) ไม่น้อยกว่า 210 ksc.ที่อายุ 28 วัน สำหรับตัวอย่างทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 ซม. สูง 30 ซม. ( หรือ 240 ksc. สำหรับตัวอย่างทรงลูกบาศก์) หรือตามที่ผู้ออกแบบกำหนด
- อายุของ Ready Mix Concrete โดยทั่วไปกำหนดไว้ที่ 2 ชม. นับจากเวลาที่ออกจาก Plant Concrete หากเกินเวลาที่กำหนด ห้ามนำคอนกรีตส่วนที่เหลือมาใช้สำหรับงานโครงสร้างเด็ดขาด
- ห้ามมีการผสมน้ำเพิ่มเติมขณะเทคอนกรีตเด็ดขาดหากตรวจสอบพบต้อง Reject คอนกรีตส่วนนั้นทั้งหมด
- ในการใช้ Ready Mix Concrete ทุกครั้ง ต้องมีการเก็บตัวอย่างลูกปูนอย่างน้อย 3 ลูก เพื่อตรวจสอบคุณภาพของคอนกรีตว่าได้กำลังอัดตามที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยทางผู้ผลิตเป็นผู้จัดเก็บทดสอบ และต้องส่งผลการทดสอบให้ทางผู้ควบคุมงานทราบทุกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงต่อไป
- ควรเทให้เสร็จในคราวเดียว หากต้องหยุด ควรหยุดในตำแหน่งที่กำหนด
- หลีกเลี่ยงการเทคอนกรีตจากระยะสูงกว่า 2.00 เมตร เพื่อป้องกันการแยกตัวของมวลรวม
- ให้ใช้เครื่องจี้ไปด้วย เพื่อให้คอนกรีตไม่เป็นโพรง
- ภายในระยะเวลา 24 ชม. ห้ามบรรทุกน้ำหนักโดยเด็ดขาด
- เนื้อคอนกรีตต้องไม่เป็นโพรงจนเห็นเนื้อเหล็กเสริม
- งานคอนกรีต ไม่ว่าจะเป็น Ready Mix หรือผสมเองที่หน้างาน ควรต้องทำการสุ่มทดสอบกำลังอัดของคอนกรีตโดยใช้เครื่อง Hammer Test เพื่อทดสอบว่าได้ค่ากำลังอัดตามที่กำหนดหรือไม่
- การหยุดเทคอนกรีต
ให้หยุดเทคอนกรีตได้ใน ตำแหน่งที่กำหนด ดังนี้
- ฐานราก ห้ามหยุดเทคอนกรีต
- เสา หยุดเทที่ระดับท้องคานที่เสารองรับ และต้องเป็นแนวระดับ
- คาน หยุดเทได้ที่กึ่งกลางคาน และแนวที่หยุดต้องเป็นแนวดิ่ง
- พื้น หยุดเทได้ที่กึ่งกลางพื้น และแนวที่หยุดต้องเป็นแนวดิ่ง (ยกเว้นพื้นหล่อในที่ เช่นพื้นห้องน้าและพื้นระเบียง ห้ามหยุดเทคอนกรีต)
- บันได ห้ามหยุดเทคอนกรีต

2. งานแบบหล่อคอนกรีต
มาตรฐานและข้อกำหนดวัสดุ
- ใช้แบบหล่อที่ไม่ผุ ไม่คดงอ และมีผิวหน้าเรียบ
- การประกอบแบบหล่อต้องมีขนาด และลักษณะตามแบบที่กำหนด
- เข้าแบบให้สนิท และห้ามใช้ถุงปูนอุดรอยรั่ว
- หลังเทคอนกรีต ควรยึดแบบหล่อให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงเวลาถอดแบบที่กำหนด เช่น
- แบบข้างคาน ผนัง และเสา 24 ชั่วโมง
- แบบท้องคาน และพื้น 7 วัน แต่ให้ค้ำยันต่อจนครบ 14 วัน
รายการตรวจสอบแบบหล่อ
- ตรวจสอบงานเหล็กเสริม ตำแหน่งแบบหล่อ และตำแหน่ง Sleeves ที่ฝังในคอนกรีต ให้ถูกต้องก่อนเทคอนกรีต โดยเฉพาะความมั่นคงแข็งแรงของแบบหล่อในส่วนที่รับน้ำหนักมากๆ เช่น การถ่ายน้ำหนักลงดินโดยตรง หรือถ่ายน้ำหนักให้กับคาน(ที่เว้นเหล็กบนไว้) ซึ่งถือเป็นข้อห้าม เพราะหากเกิดการทรุดตัวของ Support หรือโครงสร้าง อาจเกิดการวิบัติของโครงสร้าง ขณะเทคอนกรีตได้ทุกเมื่อ
- แบบหล่อต้องแนบสนิท และไม่มีรอยรั่ว ป้องกันการไหลของน้ำปูน ซึ่งจะทำให้เกิดโพรง
- การถอดแบบหล่อต้องทำอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันความเสียหายของโครงสร้าง
- หลังจากถอดแบบหล่อแล้ว ต้องรีบบ่มคอนกรีตทันที โดยบ่มต่อเนื่องอย่างน้อย 7 วัน และหากผิวคอนกรีตมีสภาพไม่สมบูรณ์ เป็นโพรง มีรูพรุน ฯลฯ ต้องแจ้งวิศวกรผู้ควบคุมงาน และทำการซ่อมคอนกรีตทันที

3. งานบ่มคอนกรีต
การบ่มคอนกรีตช่วยเพิ่มปัจจัยให้คอนกรีตได้รับการพัฒนาความแข็งแรงได้ตามที่ผู้ออกแบบกำหนด และช่วยยืดอายุการใช้งานโครงสร้าง โดยมีแนวทางดังนี้
- ภายหลังจากการถอดแบบออกแล้ว ให้ทำการบ่มคอนกรีตทันที
- การบ่มด้วยน้ำ ให้ราดน้ำ หรือใช้กระสอบเปียกคลุมพื้นที่เทคอนกรีตอย่างต่อเนื่อง 7 วัน
- การใช้น้ำยาบ่มคอนกรีต ควรใช้น้ำยาบ่มคอนกรีตที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และใช้ตามวิธีการที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด
- หลีกเลี่ยงการเสียดสี และการบรรทุกน้ำหนักก่อนคอนกรีตมีกำลังตามที่กำหนด

4. งานเหล็กเสริมคอนกรีต
มาตรฐาน และข้อกำหนดวัสดุ
- เหล็กเสริมต้องไม่มีสนิม และไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
- ระยะทาบเหล็กต้องไม่น้อยกว่า 30 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางเหล็ก(ตามมาตรฐานรายการประกอบแบบ)
- ต่อทาบเหล็กในจุดที่วิศวกรผู้ออกแบบอนุญาตให้ต่อทาบได้ โดยอ้างอิงจากมาตรฐาน วสท. เท่านั้น
รายการตรวจสอบงานเหล็กเสริม
- วางเหล็กเสริมในตำแหน่งที่กำหนดในแบบ
- ระยะ covering ตามข้อกำหนด วสท.
- เหล็กคานที่ชนกับเหล็กเสาต้องเบี่ยงหลบกัน
- เหล็กของคานฝาก ให้วางบนเหล็กของคานหลัก
4.1 ตรวจคานคอนกรีตเสริมเหล็ก หนึ่งในบริการตรวจงานพื้น-คาน-เสา ของเรา
ความเข้าใจทั่วไป
คานเป็นโครงสร้างองค์อาคารในแนวราบที่รับน้ำหนักจากตัวพื้นที่วางอยู่บนคาน โดยคานจะถ่ายน้ำหนักให้กับเสาอีกต่อหนึ่ง คานที่เป็นคานคอนกรีตเสริมเหล็ก ประกอบด้วยงานในการก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
มาตรฐาน และข้อกำหนดวัสดุ
- คอนกรีตคาน ใช้คอนกรีตผสมเสร็จ กำลังอัดประลัย 210 ksc. (สำหรับทรงกระบอก)
- เหล็กเสริมคอนกรีต ใช้ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- เหล็กเสียบรับจันทัน(อะเส คสล.) ใช้เหล็กขนาดข้ออ้อย 12 มม. ยาวรวม 60 ซม. ดัดเป็นรูปตัวยูยาวไม่น้อยกว่า 30 ซม. ฝังในคอนกรีต ไม่น้อยกว่า 15 ซม. ตลอดแนวคาน ระยะห่างเท่ากับระยะจันทันที่ระบุในแบบ
วิธีการตรวจสอบ
- ก่อนที่จะเทคอนกรีต ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อนทุกครั้ง
- ต้องมีลูกปูนหนุนเหล็กท้องคาน และข้างคานเสมอ
- ในขณะที่ทำการเทคอนกรีต จะต้องใช้เครื่องจี้คอนกรีต เพื่อป้องกันไม่ให้คอนกรีตเป็นโพรง
- พื้นหล่อในที่ เช่น พื้นห้องน้ำ, พื้นระเบียง จะต้องเทคอนกรีตพร้อมคาน (ยกเว้นพื้นชั้นล่าง)
- คานส่วนที่เป็นชานพักบันได ต้องเทคอนกรีตพร้อมเสา
- ภายในระยะเวลา 24 ชม. หลังการเทคอนกรีตโครงสร้าง ห้ามมีน้ำหนักบรรทุกบนคานโดยเด็ดขาด
- ก่อนที่จะทำการตบแต่งคอนกรีตผิวคาน ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อน
- สำหรับการหล่อคานทับหลังหน้าต่าง และกระจกเข้ามุม ต้องมีเหล็กเส้นหลักเสริมคานเสียบฝากไว้ในเสาตรงตำแหน่งได้ถูกต้อง
- ต้องทำหูช้าง คสล. รับแผ่นพื้น คสล. สำเร็จรูป ที่ไม่มีคานรับตามรูปแบบที่กำหนดไว้
รายการตรวจสอบสำคัญ
- คานคอนกรีตต้องมีขนาด และตำแหน่งที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- วัสดุรองรับท้องคานคอดินให้ใช้ไม้แบบ หรือ Lean Concrete อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นวัสดุรองรับ
- ผิวคอนกรีตหลังคาน ต้องมีความเรียบ และมีระดับที่ถูกต้อง
- เนื้อคอนกรีตต้องไม่เป็นโพรงจนเห็นเนื้อเหล็กเสริม
- เนื้อคอนกรีต ต้องมีค่ากำลังรับแรงอัด ไม่น้อยกว่า 210 ksc. (รูปทรงกระบอก)
- ต้องฝังเหล็กเพื่อรับจันทันที่คานหลังคา (ตามขนาด และลักษณะที่กำหนดในแบบ) ตามตำแหน่งของจันทัน
- เหล็กของคานฝากให้วางบนเหล็กของคานหลัก
- เหล็กคานที่ชนกับเหล็กเสา ให้เบี่ยงเหล็กคานหลบเหล็กเสา ห้ามใช้วิธีดุ้งเหล็ก




4.2 ตรวจเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก หนึ่งในบริการตรวจงานพื้น-คาน-เสา ของเรา
ความเข้าใจทั่วไป
เสาเป็นโครงสร้างที่ต่อขึ้นมาจากฐานราก(ตอม่อก็นับว่าเป็นเสา) เป็นโครงสร้างองค์อาคารในแนวดิ่ง มีหน้าที่สำคัญในการถ่ายน้ำหนักบรรทุกที่มาจากคาน และถ่ายลงสู่ฐานรากต่อไป เสาที่เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ประกอบด้วยงานในการก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
มาตรฐาน และข้อกำหนดวัสดุ
- คอนกรีตเสา ใช้คอนกรีตผสมเสร็จ กำลังอัดประลัย 210 ksc. (สำหรับทรงกระบอก)
- เหล็กเสริมคอนกรีต ใช้ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- เหล็กหนวดกุ้ง เป็นเหล็กเส้นกลม ขนาด 6 มม.จำนวน 2 เส้น ยาวไม่น้อยกว่า 25 ซม. (วัดจากผิวเสาถึงปลายเหล็ก)
วิธีการตรวจสอบ
- ก่อนการเทคอนกรีตจะต้องทำความสะอาดแบบหล่อทุกครั้ง และหนุนลูกปูน(รูปทรงโดนัท) ให้เรียบร้อย
- ในขณะที่ทำการเทคอนกรีต จะต้องทำการกระทุ้งคอนกรีตให้แน่น เพื่อไม่ให้คอนกรีตเป็นโพรง
- ก่อนที่จะทำการตบแต่งคอนกรีตผิวเสา ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อน
- การตรวจสอบผิว และดิ่งของเสา หลังจากเทคอนกรีตแล้วให้ปฏิบัติ ดังนี้
- ก่อนเทคอนกรีตเสา ต้องยึดโยงแบบเสาทุกด้านให้มั่นคง และตรวจสอบดิ่งเสาอย่างน้อยด้านที่อยู่ติดกัน ค่าล้มดิ่งต้องไม่เกิน 1 ซม. ต่อความสูงเสา 3 ม. ทุกด้าน
- ในการจี้ และเทคอนกรีต ควรทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้กระทบต่อแบบเสา
- หลังจากที่ถอดแบบเสาแล้ว (เมื่อได้กำหนดที่จะถอดแบบ) ต้องดีดเส้นเต๊าที่เสาทั้ง 2 ด้านที่ติดกันในแนวศูนย์กลางของดิ่งเสาตลอดความยาวเสา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อนขึ้นงานโครงสร้างส่วนที่ต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้หากต้องมีการซ่อมแซมเสาต้องทำให้เสร็จก่อนที่จะขึ้นงานอื่นต่อไป
- ในการถอดแบบ ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้เกิดแรงกระแทกต่อเสา เพราะเสาอาจบิ่น แตก ร้าว ได้ เนื่องจากอายุคอนกรีต และกำลังอัดยังไม่ได้ตามข้อกำหนด
- ใช้คอนกรีตผสมเสร็จในการเทเสาเท่านั้น ห้ามใช้โม่ผสมเองที่หน้างาน
- หากต้องการซ่อมแซมคอนกรีตเสาทุกกรณีต้องปฏิบัติตามมาตรฐานงานซ่อมคอนกรีตเท่านั้น
- ส่วนงานอื่นๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานงานโครงสร้าง
รายการตรวจสอบสำคัญ
- เสาแต่ละต้นจะต้องมี ขนาด และตำแหน่งตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- แนวดิ่งของโครงสร้างเสาจะล้มดิ่งได้ไม่เกิน 1 ซม.ต่อความยาว 3 เมตร ทั้ง 2 ด้านที่อยู่ติดกัน
- เนื้อคอนกรีตต้องไม่เป็นโพรงจนเห็นเนื้อเหล็กเสริม
- เนื้อคอนกรีตจะต้องมีค่ากำลังรับแรงอัดประลัย ไม่น้อยกว่า 180 ksc. (รูปทรงกระบอก)
- การต่อเหล็กเสาให้ต่อที่โคนเสา โดยมีระยะทาบไม่น้อยกว่า 30 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางเหล็กหรือไม่น้อยกว่า 60 ซม.


4.3 ตรวจพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หนึ่งในบริการตรวจงานพื้น-คาน-เสา ของเรา
ความเข้าใจทั่วไป
พื้นเป็นโครงสร้างในแนวราบมีลักษณะเป็นแผ่นบาง มีหน้าที่รับน้ำหนักโดยตรง และกระจายน้ำหนักที่รับนั้นลงสู่คานที่อยู่รอบๆ พื้น พื้นนี้เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ประกอบด้วยงานในการก่อสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะ และประเภทของพื้นที่ใช้โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นหล่อในที่ และพื้นสำเร็จรูป
4.3.1 พื้นหล่อในที่
มาตรฐาน และข้อกำหนดวัสดุ
- คอนกรีตพื้น ใช้คอนกรีตผสมเสร็จ กำลังอัดประลัย 210 ksc. (สำหรับทรงกระบอก)
- เหล็กเสริมคอนกรีต ใช้ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
วิธีการตรวจสอบ
- พื้นห้องน้ำ และพื้นระเบียง จะต้องผสมน้ำยากันซึมในเนื้อคอนกรีตด้วย
- ลานซักล้าง และทางเดินโรงรถ ที่เป็น SLAB ON GROUND จะต้องมีการบดอัดดิน และทรายให้แน่นโดยใช้เครื่องบดอัด และปูแผ่นพลาสติกก่อนการเทคอนกรีต โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- ตัดร่อง Joint ให้ขาดจากกันอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะรอบเสา ข้างผนัง ทั้งโรงรถ ลานซักล้าง
- อุดร่องรอยต่อดังกล่าวด้วยวัสดุยืดหยุ่นตามมาตรฐาน หรือใช้การโรยกรวดในร่อง ตามความเหมาะสม
- หากมีการทรุดตัวตามธรรมชาติเกิดขึ้น จะไม่เกิดการแตกร้าวตามมา เนื่องจากได้ตัดแยกออกจากกันแล้วหากมีการทรุดตัวเกิดขึ้นมาก อาจทำการซ่อมแซมได้โดยการอุดด้วยวัสดุยาแนว หรือโรยกรวดเพิ่มขึ้น โดยไม่ทำให้โครงสร้างเกิดการแตกร้าว
- ภายในระยะเวลา 24 ชม. ของการเทคอนกรีตห้ามมีน้ำหนักบรรทุกโดยเด็ดขาด
- การเทคอนกรีตพื้นปิดช่องท่อ (SHAFT ในบ้าน) ให้ปฏิบัติดังนี้
- ในแบบโครงสร้าง หากระบุให้มี Concrete Slab ปิดต้องเทปิดช่องท่อนี้ทุกครั้งก่อนปิดงาน หากไม่มีระบุในแบบ ให้ปรึกษาผู้ควบคุมงานก่อนทำงานทุกครั้ง
- ก่อนทำการเทคอนกรีตปิดช่องท่อ ต้องตรวจสอบเส้นท่อ การยึดโยง และการจัดวางเส้นท่อให้ถูกต้องตามมาตรฐานก่อน แล้วจึงเทคอนกรีตปิดช่องท่อต่อไป
- การเทคอนกรีตปิดช่องท่อทุกครั้ง ต้องยึดกับโครงสร้างให้แข็งแรง และเทให้เสร็จในครั้งเดียว เนื่องจากสัตว์ แมลง ความชื้นต่างๆ ที่อยู่ใต้บ้าน อาจเล็ดลอดเข้ามาสร้างปัญหาในเวลาต่อมาได้
รายการตรวจสอบสำคัญ
- พื้นต้องมีระดับ และความเรียบสม่ำเสมอในแนวราบ เช่น ไม่แอ่น , ไม่เอียง
- เหล็กเสริมคอนกรีต ให้วางตามลักษณะที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- พื้นห้องน้ำ และระเบียงบนต้องฝังท่อ SLEEVE สำหรับท่อน้ำดี-น้ำทิ้งก่อนเทคอนกรีต โดยใช้ข้อต่อท่อ PVC.
- พื้นหล่อในที่ชั้นล่าง ให้วางระบบท่อสุขาภิบาลให้เรียบร้อยก่อน(กรณีที่มี) และปรับดินจนถึงระดับที่กำหนดไว้ ลงทรายหยาบปรับระดับ 5 ซม. ปูพลาสติกใสปิดบนชั้นทรายก่อนเทคอนกรีต
- พื้นหล่อในที่ชั้นบน ให้ใช้ไม้แบบรองรับท้องพื้นชั้นบน
- เนื้อคอนกรีตต้องไม่เป็นโพรงจนเห็นเนื้อเหล็กเสริม
4.3.2 พื้นสำเร็จรูป
มาตรฐาน และข้อกำหนดวัสดุ
- พื้นสำเร็จรูปต้องใช้ขนาด และลักษณะตามมาตรฐานของผู้ผลิต หรือยี่ห้อตามที่ระบุในแบบ
- เหล็กเสริมคอนกรีตทับหน้าบนพื้นสำเร็จรูป(TOPPING) ใช้ขนาด และลักษณะตามที่กำหนด
- คอนกรีต ใช้อัตราส่วนผสม 1 : 2 : 4 (ปูนซีเมนต์ 1 ส่วน:ทรายหยาบ 2 ส่วน:หินเบอร์หนึ่ง 4 ส่วน)
วิธีการตรวจสอบ
- ก่อนวางพื้นควรทำความสะอาดคานที่จะรองรับน้ำหนักพื้นให้เรียบปราศจากดิน หรือคราบปูนฉาบเพื่อที่จะวางแผ่นพื้นได้ แนบชิดสนิทกัน และได้ระดับสม่ำเสมอกันโดยตลอด การติดตั้งจะทำได้ อย่างสะดวกรวดเร็ว และสวยงาม
- วางพื้นสำเร็จรูปชิดกันตลอดระหว่างคาน โดยให้วางทับอยู่บนหลังคานข้างละประมาณ 5 ซม.ดังนั้นการกำหนดความยาวของพื้นสำเร็จรูป ควรรวมระยะขอบนี้ด้วย
- การค้ำยันชั่วคราว
- ในกรณีที่แผ่นพื้นยาวกว่า 4 .00 เมตร ให้มีการทำค้ำยันชั่วคราวใต้แผ่นพื้น
- ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทำงานบนพื้นสำเร็จรูป ขณะที่ยังไม่เทคอนกรีตทับหน้า ควรมีค้ำยันชั่วคราวหลายๆ จุด หรือตามคำแนะนำของวิศวกร
- หลังจากเทคอนกรีตทับหน้าแล้ว ( CONCRETE TOPPING ) การถอดไม้ค้ำยันออก จะถอดได้เมื่อคอนกรีตรับแรงอัดได้ตามกำหนดหรืออย่างน้อยอายุครบ 7 วันแล้ว
- การเทคอนกรีตทับหน้า ( CONCRETE TOPPING )
- ใช้เหล็กเสริมขนาด 6 มม. ระยะห่าง 20 ซม. เพื่อป้องกันคอนกรีตทับหน้าแตก และสำหรับช่วงรอยต่อพื้นด้านหัวแผ่นให้ใช้เสริมเหล็ก 9 มม. ฝังยื่นยาวออกมาจากคานหักพับตามแนวนอน 40 ซม. ระยะห่าง 20 ซม. เพื่อเพิ่มความแข็งแรงช่วงรอยต่อพื้น
- คอนกรีตที่ใช้เททับหน้าต้องมีกำลังรับแรงอัด ไม่น้อยกว่า 210 ksc. (รูปทรงกระบอก)
- ในกรณีวางแผ่นพื้นไม่ได้(ช่องกว้างไม่เกิน 30 ซม.) ควรปรึกษาวิศวกร
รายการตรวจสอบสำคัญ
- หัวพื้นสำเร็จ ต้องวางอยู่บนคาน ค.ส.ล. ไม่น้อยกว่า 5 ซม. และห้ามสกัดแผ่นพื้น ให้ใช้ไฟ
เบอร์ตัดคอนกรีตตัดแผ่นให้เรียบร้อย
- การวางพื้นสำเร็จ ต้องวางให้มีลักษณะตามมาตรฐานของผู้ผลิตแผ่นพื้น
- ไม่ควรสกัดหลังคาน ค.ส.ล. เพื่อปรับระดับพื้น
- การวางเหล็กเสริมบนพื้นสำเร็จรูปเพื่อเทคอนกรีตทับหน้า(TOPPING) ใช้ขนาด และลักษณะตามที่กำหนด
- พื้นต้องมีระดับ และความเรียบสม่ำเสมอในแนวราบ เช่น ไม่แอ่น, ไม่เอียง
- พื้นส่วนที่ปูปาร์เก้ หรือลามิเนตต้องทำผิวขัดมันหลังเทคอนกรีต
- ห้ามกองเก็บวัสดุต่าง ๆ บนพื้นสำเร็จรูป เกินกว่าค่าน้ำหนักปลอดภัยที่รับได้ ควรวางแผ่กระจาย ชิดโครงสร้างเสา, คาน
5. งานตรวจสอบโครงสร้าง
หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ
- ตรวจสอบ Schmidt Hammer ควรใช้เครื่อง Schmidt Hammer สุ่มตรวจสอบกำลังอัดของคอนกรีตอย่างสม่ำเสมอ
- การตรวจสอบผิวคอนกรีต หากพบโพรงหรือรอยร้าว ให้ซ่อมแซมด้วยปูน Non-Shrink
สรุปความสำคัญของการตรวจสอบโครงสร้างบนดิน หรือบริการตรวจงานพื้น-คาน-เสา ของเรา
การตรวจสอบ โครงสร้างบนดิน พื้น-คาน-เสา เป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้โครงสร้างใต้ดิน เพราะมีบทบาทโดยตรงในการรับน้ำหนักของอาคาร การปฏิบัติงานตามมาตรฐาน และตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน จะช่วยป้องกันปัญหาในระยะยาว ทำให้โครงการก่อสร้างดำเนินไปอย่างมั่นคง ยั่งยืน และปลอดภัย ก็จบแล้วนะครับกับการอธิบายวิธีการตรวจสอบในบริการตรวจงานพื้น-คาน-เสา ของทางวิศวะกรุ๊ป
ดูคลิป CM หรือ คอนเซาท์ในงานก่อสร้าง ช่วยอะไรคุณได้บ้าง? ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค วิศวะการันตี
หากท่านอยากใช้บริการตรวจงานพื้น-คาน-เสา ก็สามารถติดต่อเราได้ตามช่องทางการติดต่อด้านล่างได้เลยครับ
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?