การตรวจงานเดินท่อระบบให้เรียบร้อยก่อนการฉาบผนัง เป็นช่วงการตรวจสอบขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับระบบภายในของโครงการก่อสร้าง ซึ่งมีความสำคัญเสมือนกับเส้นเลือดของร่างกาย ช่วยป้องกันให้ระบบต่างๆ ที่เชื่อมต่อกันสามารถทำงานได้อย่างปกติ การเดินท่อระบบที่ถูกต้อง จะต้องถูกตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนอนุมัติให้เริ่มทำงานฉาบปิดผนังจากงานก่ออิฐ หรือเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นการตรวจก่อนเริ่มฉาบผนังก็ได้
“ท่องานระบบ และงานฉาบผนัง เป็นทั้งเรื่องของฟังก์ชันการใช้งาน และความสวยงาม ต้องมีขั้นตอนการทำงานที่ได้มาตรฐาน ผลลัพธ์จึงจะลงตัว”
การตรวจสอบอย่างละเอียดโดยคอนเซาท์ก่อสร้างในขั้นตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการดำเนินการโครงการก่อสร้างที่ราบรื่น
มาตรฐาน และข้อกำหนดในการก่อผนัง และเดินท่อระบบ
- ปูนฉาบ และขั้นตอนการฉาบตามมาตรฐาน และข้อตกลง
- ปูนฉาบผิวบาง (Skim Coat) (ถ้ามี) ต้องใช้ตามมาตรฐาน และข้อตกลง
- ข้อกำหนด และมาตรฐานการเดินท่อระบบฝังผนัง และบนฝ้าเพดา
วิธีการดำเนินการงานฉาบผนัง
- ก่อนฉาบปูน
- จับปุ่ม หรือเฟี้ยมให้ได้แนวดิ่งและแนวนอนโดยมี ระยะห่างของปุ่มไม่เกิน 1.5 x 1.5 ม. และหลังจากฉาบปูนเสร็จแล้ว มาตรฐานของแนวดิ่งฉากของงานฉาบปูนต้องได้ตามตารางที่มาตรฐานกำหนด
- ดูความเรียบร้อยในเรื่องการติดตั้งลวดตาข่าย, การฝังท่อร้อยสายไฟ, บล็อกสวิตช์ไฟฟ้า ให้ได้ตามมาตรฐาน
- ส่วนที่เป็นโครงสร้างให้สลัดน้ำปูนบริเวณผิวคอนกรีต เช่น เสา, คาน, เอ็นคอนกรีต, ครีบ ทิ้ง ไว้อย่างน้อย 1 วัน
- อุดปูนรอบวงกบให้เรียบร้อย



- ขณะฉาบปูน
- ตบแต่งผิวหน้า และบริเวณบล็อกปลั๊ก-สวิตช์ไฟฟ้าให้เรียบร้อย
- ไม่ควรฉาบปูนผนังด้านที่ติดกับบริเวณที่เป็นมุมฉากพร้อมๆ กัน
- ความหนาของปูนฉาบจะต้องสม่ำเสมอ ไม่หนา หรือบางเกินไป และผิวฉาบจะต้องเสมอวงกบพอดี
- ภายหลังจากการฉาบปูนเสร็จผ่านไป 24 ชม. ให้ฉีดน้ำเช้า-เย็น เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน
- การฉาบปูน ให้ฉาบสูงกว่าระดับฝ้าเพดานอย่างน้อย 15 ซม. และเป็นแนวตรง

วิธีการดำเนินการงานเดินท่อระบบ
- ขีดเส้นด้านข้างของแนวที่จะขูดเซาะเพื่อฝังท่อ โดยใช้ดินสอขีดลงบนผนัง
- ใช้เลื่อยวงเดือนหรือมอเตอร์เจียร์(ลูกหมู) โดยใช้ใบตัดคอนกรีตตัดตามเส้นที่ขีดไว้ให้ลึกพอดีกับขนาดท่อที่จะฝัง(ความลึกสูงสุดไม่เกิน 1 ใน 3 ของความหนาของอิฐ)
- ใช้สิ่วสกัดเนื้ออิฐออก แล้วเหล็กขูดเซาะร่องแต่งส่วนที่ยังติดค้างออกให้หมด
- ฝังท่อลงไปในร่องแล้วตอกยึดแน่นด้วยตะปู ปัดฝุ่นออกให้หมด แล้วจึงอุดด้วยปูนทรายให้แน่นเต็มเสมอกับแนวก่อแล้วปิดด้วยลวดตาข่ายทับก่อนฉาบ
- การเดินท่อระบบบนฝ้าเพดาน และติดโครงหลังคา ให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน หรือข้อกำหนดในรายการประกอบแบบ


แนวทางการตรวจตรวจก่อนเริ่มฉาบผนัง และงานเดินท่อระบบ
- ผนังปูนฉาบ ต้องได้ดิ่ง และเป็นแนวตรงในแนวราบ
- ผิวของปูนฉาบต้องเรียบสม่ำเสมอไม่เป็นคลื่น
- ต้องฉาบให้สูงกว่าระดับฝ้าเพดานอย่างน้อย 15 ซม. และตัดเป็นเส้นตรง
- การฉาบปูนจะต้องไม่มีรอยต่อในผนังที่ฉาบ และต้องไม่มีรอยแตกร้าวลายงา
- ท่อร้อยสายไฟ สายไฟ และอุปกรณ์ต่างๆ ใช้ผลิตภัณฑ์ ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง และต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ และมาตรฐานของการใช้ไฟฟ้านครหลวง
- การเดินท่อร้อยสายไฟ
– ต้องเจาะฝังในลักษณะที่เรียบร้อย
– สายไฟร้อยในท่อ PVC พื้นที่หน้าตัดสายไฟต้องไม่เกิน 40% ของพื้นที่หน้าตัดท่อ
– ท่อร้อยสายไฟในผนัง ต้องห่างจากริมเสาไม่น้อยกว่า 20 ซม.
– ท่อร้อยสายไฟในผนัง ต้องติดตั้งลวดตาข่าย กว้างไม่น้อยกว่า 20 ซม.(ข้างละ 10 ซม.) ตลอดความยาว ก่อนฉาบผนัง
– การเดินสายไฟบนฝ้าเพดาน ให้เดินท่อร้อยสายไฟแนบพื้นชั้นบนหรือโครงหลังคา โดยยึดท่อ และกล่องต่อสายให้มั่นคง การเปลี่ยนแนวใช้กล่องต่อสายเป็นหลัก
- บริเวณบล็อกปลั๊ก-สวิตช์ไฟฟ้า ต้องตบแต่งปูนฉาบให้มีขนาด และลักษณะที่เรียบร้อย
- บริเวณเหลี่ยม หรือมุมของผิวปูนฉาบต้องเป็นมุมฉาก เป็นแนวตรง ไม่คด ไม่แตก หรือบิ่น
- การก่ออิฐ ต้องใช้ก้อนเต็มบริเวณรอบวงกบ
- ก่อนการฉาบปูนต้องแจ้งให้ผู้ควบคุมงานรับทราบ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยก่อน
- หลังการฉาบปูนผนังแล้วเสร็จต้องตรวจสอบ และบันทึกการบ่มผิวปูนฉาบผนังภายนอก ตามมาตรฐาน


ประเภทงาน | ความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้ในแนวดิ่ง | ความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้ในแนวราบ |
งานก่ออิฐ | …0.5 ซม./ความสูงผนัง 3 เมตร | มองเห็นเป็นเส้นตรงในแนวระนาบ |
งานฉาบปูน | …0.5 ซม./ความสูงผนัง 3 เมตร | …0.5 ซม./ความกว้างผนัง 4 เมตร |
กำ หนดให้การฉาบเสาคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 0.5 ซม./ความสูง 3 เมตร |
ตารางแสดงมาตรฐานแนวดิ่ง และแนวราบในงานก่ออิฐฉาบปูน

สรุป
งานเดินท่อระบบเหนือฝ้าหรือใต้หลัง และในผนังก่ออิฐ เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยทั้งความแม่นยำด้านวิศวกรรม และความประณีตด้านสถาปัตยกรรม เพื่อให้ได้ทั้งความแข็งแรง ทนทาน และความสวยงามที่สอดคล้องกับการใช้งานในระยะยาว การดำเนินงานตามมาตรฐาน ไม่เพียงช่วยให้ระบบทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ยังลดโอกาสเกิดปัญหาที่อาจส่งผลต่อโครงสร้าง และระบบสาธารณูปโภคในภายหลัง
การตรวจสอบการเดินท่องานระบบและตรวจก่อนเริ่มฉาบผนัง มีบทบาทสำคัญในการควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่การก่ออิฐ การติดตั้งท่อร้อยสายไฟ การฉาบปูน ไปจนถึงการตรวจสอบบล็อกปลั๊ก-สวิตช์ไฟฟ้า ทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และข้อตกลงที่กำหนด เพื่อป้องกันปัญหา เช่น ผนังแตกร้าว งานระบบรั่วซึม หรือไฟฟ้าลัดวงจร
สุดท้าย การให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ และปฏิบัติตามมาตรฐานทุกขั้นตอน จะช่วยให้บ้าน หรืออาคารมีคุณภาพที่ดี ปลอดภัย และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมในอนาคต และช่วยให้การก่อสร้างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
เราแนะนำคลิปเพิ่มเติม >>> ความสำคัญของ CM หรือคอนเซาท์ในงานก่อสร้าง ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค วิศวะการันตี
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?