พื้นเป็นส่วนสำคัญของอาคารที่ไม่เพียงแต่รองรับน้ำหนัก และการใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่ยังส่งเสริมต่อความสวยงามของอาคาร ต้องมีความปลอดภัย และความสะดวกสบายต่อผู้ใช้อาคาร งานปูวัสดุพื้นผิวจึงเป็นขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านมาตรฐานการติดตั้ง และคุณภาพของวัสดุที่เลือกใช้ การตรวจงานติดวัสดุปูพื้นโดยที่ปรึกษางานก่อสร้าง หรือคอนเซาท์ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มั่นใจว่างานปูพื้นทำได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ลดปัญหาพื้นโก่ง พื้นล่อน หรือเกิดความเสียหายในอนาคต
“พื้นอาคาร รองรับการใช้งานอย่างหนัก พื้นที่ดีไม่ใช่แค่สวยงาม แต่ต้องมั่นคง แข็งแรง และใช้งานได้อย่างปลอดภัย”
วัสดุปูพื้นมีหลายชนิดใช้ปูพื้นทั้งภายใน และภายนอกอาคาร แล้วแต่ตามความต้องการ การปูพื้นประกอบด้วยงานตั้งแต่ปรับระดับปูนทราย ปูวัสดุพื้นให้ได้แนว และระดับ และยาแนวร่องวัสดุปูให้เรียบสม่ำเสมอ โดยต้องคำนึงถึงวิธีการปูตามชนิดวัสดุ และรูปแบบตามแบบด้วย
มาตรฐาน และข้อกำหนดในการตรวจงานติดวัสดุปูพื้น
- วัสดุปูพื้นผิว ให้ใช้วัสดุตามเกรด หรือตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- กระเบื้องพื้น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ ขนาดเดียวกันตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- หินอ่อน หรือแกรนิต ใช้ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- ไม้จริง ใช้ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
วิธีการดำเนินการงานวัสดุปิดพื้นผิว
- ก่อนการปูกระเบื้องจะต้องทำการบ่มน้ำให้ชุ่ม และล้างพื้นให้สะอาด เพื่อต้องการให้ปูนที่เทปรับผิวพื้นแข็งตัวช้า และป้องกันการหลุดร่อนภายหลัง
- การเทคอนกรีต เพื่อปรับพื้นผิวจะต้องปรับให้ได้ระดับเรียบสม่ำเสมอหรือลาดเอียง ตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- ก่อนการปูกระเบื้องต้องตรวจสอบลักษณะสี และลายของกระเบื้องให้ตรงกับรายการที่เลือกในแต่ละห้อง และทำการแช่กระเบื้องในน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชม. หรือตามข้อกำหนดของผู้ผลิต
- การจัดแบ่งเศษกระเบื้อง ควรทำตามลักษณะดังนี้ แบ่งระยะกึ่งกลางของผนังแต่ละด้าน
- ตรวจสอบเศษกระเบื้องทั้งซ้าย และขวาซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งแผ่น
- ตรวจสอบเศษของกระเบื้องบริเวณข้างวงกบ, ด้านบนวงกบ, ผนังกั้นส่วนอาบน้ำ ว่าตกเศษเล็กหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับให้ลงตัวที่สุดก่อนปูกระเบื้อง โดยจะต้องคำนึงถึงความเรียบร้อยสวยงามเป็นหลัก
- ปูกระเบื้องให้มีลักษณะตามที่กำหนดตามแบบประกอบ
- ในการตัดกระเบื้องจะต้องใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพ คือ มีความคม, ใบตัดใหม่เสมอ และใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น กระเบื้องดินเผาที่มีการเคลือบผิว การตัดกระเบื้องจะต้องใช้ใบตัดน้ำ (ชนิดเดียวกับที่ช่างหินอ่อนใช้)
- การทำ SLOPE ของพื้นห้องน้ำ ระเบียง ต้องดำเนินการตามนี้
- ตรวจสอบค่าระดับพื้น และทิศทางของ SLOPE จากแบบโครงสร้าง และสถาปัตย์
- เตรียมงานยก และปรับค่า SLOPE พื้น คาน ให้สอดคล้องกับแบบสถาปัตย์ก่อนเทคอนกรีต ทั้งนี้ห้ามลดความหนาของคอนกรีตโครงสร้างอย่างเด็ดขาด
- หากเป็นพื้นเทกับที่ (ห้องน้ำ/ระเบียง) ต้องเทคอนกรีตพื้น และคานพร้อมกันในครั้งเดียว และต้องผสมน้ำยากันซึมตามสัดส่วนของผู้ผลิตแนะนำไว้
- โดยทั่วไปไม่ควรเทปูนทรายหนาเกิน 5 ซม. เนื่องจากอาจเกิดการแตกร้าวได้ง่าย และเป็นการเพิ่ม Dead Load ให้กับโครงสร้าง ทำให้รับ Live Load ได้น้อยลง
- ก่อนปูวัสดุพื้นผิว ต้องตรวจสอบระดับพื้น และ SLOPE รวมถึงความหนาของปูนทรายที่จะเทปรับระดับก่อน หากหนาเกิน 5 ซม. ต้องใส่เหล็กเสริมกันแตกตามที่ผู้ควบคุมอนุมัติโดยเหล็กเสริม และปูนทรายที่เพิ่มนี้ ผู้รับเหมาต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
- มาตรฐานงานปูกระเบื้อง หรือหินบริษัทให้ได้คุณภาพ และแข็งแรง ควรกำหนดการใช้ชนิดกาวซีเมนต์ และปูนยาแนว ตามมาตรฐาน
แนวทางการตรวจงานติดวัสดุปูพื้น
- การปูวัสดุพื้นผิว ต้องปูให้ได้ระดับในแนวราบ ไม่เป็นคลื่น
- ลักษณะ ชนิด สี ลาย รูปร่าง ต้องตรงตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- การปูกระเบื้อง หรือ หินอ่อน
- เศษกระเบื้องซ้าย และขวา ต้องเท่ากัน และมากกว่าครึ่งแผ่นเสมอ
- ความกว้างของร่องกระเบื้องต้องไม่เกิน 3 มม. หรือตามแบบระบุ
- ความกว้างของร่องยาแนวหินอ่อนต้องไม่เกิน 1 มม.
- รูท่อน้ำดี หรือน้ำทิ้ง ต้องเจาะกระเบื้องให้เป็นช่องพอดีในลักษณะที่เรียบร้อย
- การเข้ามุมกระเบื้อง ต้องเข้ามุมกระเบื้อง 45 องศาทุกจุด เช่น ขอบอ่างอาบน้ำ เคาน์เตอร์ มุมเสาขั้นบันได ฯลฯ
- การปูกระเบื้องให้ยึดความสูงจากท้องวงกบ ขอบช่องแสง
- หลังจากปูกระเบื้องเรียบร้อยแล้ว กระเบื้องต้องไม่หลุดล่อน
- กระเบื้องหรือหินอ่อน ต้องไม่มีรอยแตกร้าว บิ่น หรือตำหนิใดๆ ทั้งสิ้น
- การยาแนวกระเบื้องจะต้องเรียบเสมอขอบโค้งของกระเบื้องเพื่อให้ยาแนวดูเรียบร้อย
- การใช้ยาแนว 2 สี ในร่องกระเบื้องเดียวกัน จะต้องระวังอย่าให้เลอะกัน
- การปูหินอ่อนหรือหินแกรนิต ต้องทาน้ำยากันซึมให้ครบทุกด้านโดยปฏิบัติตามคู่มือการใช้น้ำยาอย่างเคร่งครัด แล้วรอจนน้ำยาแห้งสนิทก่อนปูหิน
- การปูไม้จริง
- ไม้จริง ต้องไม่มีตำหนิ เช่น ไม้บิ่น ไม่มี รอยแตกร้าว ไม่เป็นรูมอด สีต้องกลมกลืนกันด้วย
- ต้องขัดผิวไม้จริงให้เรียบได้ระดับ ไม่เป็นคลื่น โดยต้องขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 100 ในเที่ยวสุดท้าย
- ควรทำผิวขัดมันพร้อมกับเท TOPPING โครงสร้าง ทั้งนี้มีข้อควรระวังดังนี้
- ตรวจสอบค่าระดับให้ถูกต้องก่อนเท TOPPING
- ควรทำค่าระดับให้ชัดเจน และไม่ควรห่างกันเกิน 1.5 เมตร เพื่อความถูกต้องของค่าระดับ
- หากมีการเทปูนทรายขัดมันอีก จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างโดยเฉพาะแผ่นพื้นซึ่งย่อมส่งผลให้การรับน้ำหนักจรที่ปลอดภัยจะลดลงจากแบบที่คำนวณไว้ด้วยเช่นกัน
- หากมีการปรับแต่งผิวขัดมัน ก่อนปูไม้จริง ต้องทิ้งให้ผิวปูนทรายแห้งสนิทเสียก่อน มิฉะนั้นอาจจะเกิดการหลุดร่อนของกาว และไม้ได้ในภายหลัง
- ใช้แบบฟอร์มส่งมอบพื้นที่ในการติดตั้งไม้ด้วย
- บริเวณส่วนจบของขอบบัวเชิงผนังให้จบตามลักษณะที่เรียบร้อยตามมาตรฐานงานไม้ หรือตามที่ผู้ออกแบบกำหนด
- ควรปรับแก้ผิวปูนฉาบที่ไม่เรียบร้อย ไม่ฉาก โก่ง แอ่น ให้เรียบร้อยก่อนติดตั้งบัวเชิงผนัง
- บัวเชิงผนังต้องไม่บิดงอ และแนบสนิทกับผนัง และผนังที่ยาวไม่เกิน 3.00 ม. ห้ามมีการต่อไม้
- หากผนังที่มีความยาวมากกว่า 3.0 ม. ให้ต่อได้ในลักษณะเอียง 45 องศา และรอยต่อต้องเรียบ แนบชิดสนิทกัน และสีไม้ต้องกลมกลืนกันด้วย
สรุป
การตรวจสอบงานปูวัสดุพื้นผิวเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ได้พื้นที่มีคุณภาพ สวยงาม ทนทาน และปลอดภัยในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการปูพื้นกระเบื้อง พื้นไม้ หรือพื้นคอนกรีต ทุกประเภทล้วนมีมาตรฐานการติดตั้งที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การที่มีคอนเซาท์ หรือที่ปรึกษางานก่อสร้างคอยตรวจสอบงานตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพื้นผิว ตรวจสอบวัสดุปูพื้น และกระบวนการติดตั้ง จะช่วยให้มั่นใจว่างานปูพื้นมีความเรียบร้อย สมบูรณ์ และสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้การตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกขั้นตอนยังช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาซ่อมแซมในภายหลัง ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าใช้จ่าย และระยะเวลาการใช้งานของอาคารในอนาคต
เราแนะนำคลิปเพิ่มเติม >>> ความสำคัญของ CM หรือคอนเซาท์ในงานก่อสร้าง ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค วิศวะการันตี
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?