การติดตั้งสุขภัณฑ์เป็นขั้นตอนช่วงสุดท้ายที่สำคัญของงานก่อสร้างบ้าน และอาคาร ประกอบด้วยงานติดตั้งเดินท่อระบบประปาภายนอก และภายในอาคาร ถังน้ำดี ระบบปั๊มพ์น้ำ และระบบท่อน้ำทิ้งจากในอาคารลงสู่ถังบำบัด และท่อระบายน้ำภายนอกอาคาร รวมถึงการติดตั้งสุขภัณฑ์ และอุปกรณ์เสริมต่างๆ โดยต้องคำนึงถึงการทดสอบแรงดันน้ำในท่อประปา และความแข็งแรงในการติดตั้งระบบท่อ และสุขภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน ดังนั้นขั้นตอนตอนการตรวจงานติดสุขภัณฑ์ ก็นับได้ว่าเป็นการตรวจระบบประปาสุขาภิบาลทั้งระบบด้วย
“สุขา คือ ที่สร้างความสุข อย่าละเลยจนกลายเป็นที่สร้างความทุกข์ในการใช้งาน”
งานระบบสุขภัณฑ์ไม่เพียงแต่ต้องให้ได้งานที่มีคุณภาพ สวยงาม และถูกต้องตามแบบเท่านั้น แต่ยังต้องมีความมั่นใจว่าสุขภัณฑ์ทั้งหมดสามารถใช้งานได้จริง ไม่มีการรั่วซึม การติดตั้งไม่เอียง หรือหลุดออกจากตำแหน่ง อีกทั้งระบบน้ำดี และน้ำเสียต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจงานติดสุขภัณฑ์โดยที่ปรึกษางานก่อสร้าง จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้เจ้าของบ้านมั่นใจว่าสุขภัณฑ์ที่ติดตั้งในบ้านจะสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง
1.งานประปา
มาตรฐาน และข้อกำหนดในการตรวจสอบงานประปา
- ท่อ PVC สีฟ้า แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ของท่อน้ำไทย และปูนซีเมนต์ไทย ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง โดยท่อน้ำประปา ใช้ชนิด 13.5 ส่วนท่อน้ำทิ้ง – ท่อโสโครก – ท่ออากาศ ใช้ชนิด 8.5
- ท่อ HDPE ใช้ชนิด PN 10 พร้อมอุปกรณ์ข้อต่อระบบ COMPRESSION ตาม มอก. 982-2533 โดยใช้ท่อ HDPE สำหรับเมนท่อประปา และเมนของท่อไฟฟ้า(แบบฝังดิน) เพื่อป้องกันการแตกหักเนื่องจากการทรุดตัวของดินและอาคาร
- ท่อน้ำร้อนสำหรับเครื่องทำน้ำร้อน ใช้ท่อ PP-R แบบ SDR 6 (PN 20) Durable Class ส่วนข้อต่อใช้เป็นแบบชนิดข้อต่อเกลียวทองเหลือง
- น้ำยาเชื่อมท่อ PVC ควรใช้ผลิตภัณฑ์ของปูนซีเมนต์ไทย และท่อน้ำไทยเท่านั้น
- ข้อต่อที่ต่อกับก๊อกน้ำ และท่อน้ำดี ใช้ข้อต่อเหล็กอาบสังกะสี
- CHECK VALVE ใช้ยี่ห้อ SANWA หรือตามที่กำหนดในแบบ
- ก็อกสนามใช้ยี่ห้อ SANWA หรือตามที่กำหนดในแบบ
- HANGER ใช้ยี่ห้อ ตราช้าง หรือตามที่กำหนดในแบบ
วิธีการดำเนินการงานประปา
- ต้องใช้วัสดุ และอุปกรณ์ตามที่กำหนดโดยท่อเมนประปา HDPE ต้องเดินขนาน และยึดกับแนวคานรั้ว และบ้าน ทั้งนี้จุดต่อท่อเมน HDPE กับท่อประปา PVC ภายใน ให้ต่อที่หลังคานเท่านั้น
- ท่อประปาที่ต้องฝังในผนังก่ออิฐ ต้องเจาะ และฝังในลักษณะที่เรียบร้อย
- การต่อท่อ PPR ต้องต่อด้วยข้อต่อชนิดข้อต่อเกลียวทองเหลืองเท่านั้น
- การต่อท่อ PVC ห้ามใช้ไฟเป่า ต้องต่อด้วยข้อต่อ, ข้องอ แล้วใช้น้ำยาเป็นตัวเชื่อม
- ท่อที่ทะลุผ่านพื้น คสล. ต้องมีการฝัง SLEEVE ด้วยอุปกรณ์ข้อต่อ ไว้ก่อนตามตำแหน่งที่ถูกต้อง
- เมื่อเดินท่อประปา และท่อน้ำร้อนเสร็จ ต้องตรวจสอบรอยรั่วบริเวณข้อต่อโดยใช้ความดันน้ำที่ 100PSI ระยะเวลา 2 ชม. โดยความดันต้องไม่ตก ทั้งนี้ต้องทำการทดสอบ และแก้ไข(หากรั่ว) ให้เสร็จก่อนที่จะปูกระเบื้อง หรือปิดฝ้าเพดาน
- ในกรณีที่ท่อประปาอยู่แนบคาน ต้องยึดแคล้มป์กับท่อประปา แนบคานให้เรียบร้อยโดยใช้แคล้มป์ PVC ยึดทุกระยะ 1 เมตร และบริเวณที่มีการใส่ข้องอ หรือข้อต่อ
- ท่อประปา และท่อน้ำทิ้ง หรือท่อส้วม ที่อยู่ใต้พื้นชั้นบนต้องมี HANGER แขวนท่อไว้ เริ่มจากข้องอตัวแรกไม่เกิน 30 ซม. และระยะห่างตัวต่อไปไม่เกิน 1.50 ม. ในลักษณะที่แข็งแรง และต้องอยู่ในแนวดิ่ง
- ท่อประปาท่อ น้ำทิ้ง และท่อโสโครกที่อยู่ใต้พื้นชั้นล่าง ต้องมีเหล็กเส้นขนาด 9 มม.ชุบสีกันสนิมพัน คล้องรอบท่อ ปลายเหล็กผูกไว้กับ เหล็กโครงสร้างพื้นห้องน้ำก่อนเทคอนกรีต ระยะห่างเริ่มจากข้องอตัวแรกไม่เกิน 30 ซม. และระยะห่างตัวต่อไปไม่เกิน 1.50 ม. ในลักษณะที่แข็งแรง
- ท่อระบายน้ำทิ้งชั้นบนจะต้องมีท่อระบายอากาศ ขนาด 1” ที่จุดลงกล่องเสา (ช่อง SHAFT)
- ท่อโสโครกห้องน้ำชั้นบน หากความยาวน้อยกว่า 3.00 ม. ให้ใส่ท่ออากาศที่จุดลงกล่องเสาเพียงจุดเดียว แต่ถ้าหากเส้นท่อมีความยาวมากกว่า 3.00 เมตร ให้ใส่ท่ออากาศภายในระยะ 1.50 เมตร จากฐานชักโครก และที่กล่องเสารวม 2 จุด
- ท่ออากาศ ใช้ท่อ PVC สีฟ้า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1” ชนิด 8.5 และต้องวางขนานกับท่อน้ำทิ้งหรือท่อโสโครก ในแนวดิ่งเท่านั้น ห้ามวางด้านข้างท่อ ส่วนท่อระบายอากาศที่ติดตั้งภายนอกอาคารให้ใส่ข้อต่อ 3 ทาง และต้องวางให้ปลายท่ออากาศอยู่ในแนวนอนขนานกับตัวบ้าน ทั้งนี้ต้องใส่ให้แน่น ไม่ต้องทากาว และต้องใส่มุ้งกันแมลง
- ท่อน้ำทิ้ง PVC Class ให้ใช้ SLOPE 1 : 100 ส่วนท่อน้ำโสโครกให้ใช้ SLOPE ไม่น้อยกว่า 1 : 100 แต่ไม่มากกว่า 1 : 50
- ท่อระบายน้ำทิ้งจากถังบำบัดลอดใต้อาคารให้ใช้เป็นท่อ PVC Class 5 ขนาด 6 นิ้ว หรือตามผู้ออกแบบกำหนด โดยไม่ต้องยึดกับคาน และให้วางใต้ดิน
- การเดินท่อน้ำทิ้งจากอาคารก่อนลงสู่ท่อระบายน้ำทิ้งภายนอก แยกรายละเอียดได้ดังนี้
- น้ำทิ้งจากชักโครก, ท่อน้ำทิ้งจากโถปัสสาวะชาย จะต้องผ่านถังบำบัดน้ำเสีย ก่อนผ่านลงสู่ท่อระบายน้ำ
- น้ำทิ้งจากอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ ท่อระบายน้ำทิ้งที่พื้น น้ำทิ้งจากเครื่องซักผ้า จะไหลลงสู่บ่อดักกลิ่น ก่อนผ่านลงสู่บ่อพัก
- น้ำทิ้งจากอ่างล้างจานในครัว จะไหลลงสู่บ่อดักไขมัน ก่อนผ่านลงสู่บ่อดักกลิ่น
- ต้องมี Clean Out สำหรับท่อโสโครกที่ออกจากอาคารก่อนผ่านลงสู่ถังบำบัด ให้ลงตำแหน่ง และระยะที่เหมาะสม โดยมีรูปแบบการติดตั้งดังนี้
- กรณี Clean Out อยู่บริเวณสวนให้เทคอนกรีตหุ้ม ระดับเสมอดินปลูกหญ้า
- กรณี Clean Out อยู่บริเวณพื้น คสล. ไม่ต้องมีคอนกรีตหุ้ม ระดับเท่า finishing
- บ่อพักดักกลิ่น การเดินระบบท่อน้ำทิ้งภายในบ่อพักดักกลิ่นจะมีท่อเข้า และท่อออก โดยระดับท้องท่อทั้ง 2 ตัวอยู่ในระดับเดียวกันติดสูงจากพื้นบ่อพักที่เทคอนกรีตขัดมันแล้วอยู่ 10 – 15 ซม.(ขึ้นอยู่กับ slope ของท่อ) การดักกลิ่นสามารถทำโดยใส่ข้องอ 90 องศา ที่ปลายบ่อพัก โดยท่อน้ำทิ้งจากภายในอาคาร (ท่อเข้า) จะต้องใส่ข้องอ 90 องศา หงายขึ้น ไม่ต้องทากาวเพื่อทำความสะอาดได้ ท่อออกจะต้องใส่ข้องอ 90 องศา คว่ำลง ปลายท่ออีกด้านต่อเข้าท่อโสโครก เพื่อลงถังบำบัดน้ำเสีย การเดินท่อออกจากบ่อดักกลิ่น โดยปลายท่อจะไปต่อเข้ากับท่อโสโครก จะต้องระวังอย่าให้ Slope ของท่อกลับทาง เพราะหาก Slope ท่อกลับทาง จะทำให้กากจากท่อส้วมย้อนเข้ามาในบ่อพักดักกลิ่นได้
- บ่อดักไขมัน ต้องมีการทำระดับก่อนวางบ่อ เมื่อติดตั้งเสร็จทดสอบการไหลของน้ำที่มาจากอ่างล้างจานตรงห้องครัว หรือครัวไทย โดยเมื่อปล่อยน้ำมาหมดแล้ว น้ำต้องไม่ท่วมขังที่ตะแกรง นั่นคือระดับน้ำในบ่อต้องต่ำกว่าตะแกรง ตะแกรงจึงจะทำหน้าที่ดักเศษอาหารได้ การทำงานของระบบบ่อนี้จึงจะสมบูรณ์ และถูกต้องตามมาตรฐาน
- ท่อระบายน้ำล้น (OVERFLOW) ต้องติดตั้งในบริเวณพื้นที่ที่ถูกน้ำ และมีการเดินท่อน้ำทิ้งในช่องรวมท่อ เช่น พื้นระเบียงห้องนอน โดยใช้ท่อสี่เหลี่ยม aluminium ขนาด 1” x 3” (หากไม่มีระบุในแบบ) สูงจากระดับพื้นผิว 1 นิ้ว เพื่อป้องกันในกรณีที่ท่อระบายน้ำทิ้งที่พื้นเกิดการอุดตัน
- ต้องติดตั้งที่ดักกลิ่น P-TRAP ที่ชุด SINK ของครัวไทย และฝรั่ง โดยปฏิบัติดังนี้
- ตรวจสอบระดับของถังดักไขมัน บ่อดักกลิ่น และบ่อพักให้สอดคล้องกันตามมาตรฐานงาน
- ตรวจสอบตำแหน่งของท่อน้ำดี และท่อน้ำทิ้งให้ถูกต้องตามแบบก่อนการฝัง Sleeves โดยเฉพาะสเปคของท่อ ตำแหน่ง ระดับ ฝังที่พื้นหรือผนัง ควรตรวจสอบก่อนทุกครั้ง
- หากผู้รับเหมาฝัง Sleeves ท่อผิดตำแหน่ง และไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ต้องรื้อ และฝังใหม่ แต่ถ้าหากยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ต้องใช้อุปกรณ์ติดตั้งมากกว่าชุดมาตรฐาน ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด เช่น ใช้สายน้ำดีที่ยาวขึ้น
- สำหรับทุกระเบียงที่ออกไป service ไม่ได้ ให้มีการติดตั้ง ROOF DRAIN ขนาด 2″ เพิ่มด้วย
- การติดตั้ง drainage เครื่องซักผ้าบริเวณซักล้าง หากไม่มีการระบุในแบบ ให้มีระดับเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด ดังนี้
- ตำแหน่งปลั๊กสูงจากพื้น 0.70 ม.
- ท่อน้ำดี dia. 1/2 ” เกลียวนอกสูงจากพื้น 0.60 ม. ท่อน้ำทิ้ง dia. 2 ” สูงจากพื้น 0.40 ม.
- การเดินท่อจ่ายน้ำประปาส่วนที่ฝังใต้ดิน, ฝังใต้พื้นชั้น 1 ใช้เป็นท่อ HDPE ทั้งหมดตั้งแต่จากมิเตอร์ไปสู่ถังเก็บน้ำ ไปสู่ ปั๊มพ์น้ำ ไปสู่ จุดต่อท่อก่อนเข้าบ้าน
- รูปแบบการเดินท่อน้ำดีบริเวณภายนอกบ้าน ดังนี้
- ให้เดินท่อน้ำดีบริเวณภายนอกบ้านเป็นท่อชนิด HDPE ทั้งระบบ หรือเดินท่อน้ำดีบริเวณภายนอกบ้านเป็นท่อชนิด PVC ทั้งระบบ หรือเดินท่อน้ำดีบริเวณภายนอกบ้านเป็นท่อชนิด HDPE ตั้งแต่จากมิเตอร์ถึงถังน้ำดี หลังจากถังน้ำดีไปเป็นท่อชนิด PVC โดยให้ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบกำหนด
- รูปแบบการเดินท่ออากาศ สำหรับท่อโสโครก ท่อน้ำทิ้ง ถังบำบัด และถังน้ำดี มีดังนี้
- ใช้ท่ออากาศเป็นท่อ PVC สีฟ้า ขนาด 2 นิ้ว ชนิด 8.5 ต่อจากท่อโสโครก, ท่อน้ำทิ้งของทั้งชั้นบน และชั้นล่าง รวมทั้งจากถังบำบัดน้ำเสีย ผ่านเข้าช่อง SHAFT
- ให้เดินแยกท่ออากาศของท่อน้ำทิ้ง และท่อโสโครก ห้ามต่อรวมกันโดยเด็ดขาด
- ถังน้ำดีใช้ท่ออากาศเป็นท่อ PVC สีฟ้า ขนาด 1/2 นิ้ว ชนิด 8.5 เดินท่อต่อจากถังน้ำดี ยึดกับรั้วบ้านสูง 0.80 ม. ปลายท่อใส่มุ้งกันแมลง
- รูปแบบฝาถังบำบัด, ถังน้ำดีใต้ดิน และถังดักไขมัน ที่นิยมใช้มี 2 แบบ ดังนี้
แบบที่1 ขอบบ่อสำเร็จรูป และฝาขอบบ่อไม้(มีฝาไม้ และครอบบ่อสำเร็จรูปครอบปิดบนฝาถังเดิมเพื่อความสวยงาม)
แบบที่ 2 ขอบบ่อสำเร็จรูป และฝาถังเดิม(ต่อขอบปากบ่อสำเร็จรูป และใช้ฝาเดิม)
แนวทางการตรวจสอบงานประปา
- เดินท่อตามขนาดในตำแหน่ง ให้มีลักษณะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- ฝังแนวท่อประปา โดยใช้ FIBER ตัด และตกแต่งแนวท่อในลักษณะที่เรียบร้อย
- การต่อเชื่อมท่อ PVC ให้ใช้น้ำยาทาทั้งตัวท่อ และภายในข้อต่อ จับกดให้แน่นไว้สักครู่ก่อนที่จะปล่อยมือ เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อคลายตัวออกก่อนที่น้ำยาจะแข็งตัว
- การเดินท่อภายในช่อง SHAFT ( แนวตั้ง ) จะต้องเดินท่อในลักษณะที่สามารถซ่อมท่อได้ง่ายเมื่อเกิดปัญหา คือ ท่อใหญ่ชิดผนังด้านใน ท่อเล็กอยู่ด้านนอก และท่อเมนน้ำดีต้องรัดแคลมป์ให้แน่น เพื่อป้องกันการสะบัดตัวของท่อเมื่อปั๊มพ์น้ำทำงาน
- ตรวจสอบความดันในเส้นท่อน้ำดี และท่อน้ำร้อน ด้วยเครื่องมือตรวจสอบความดันที่ได้มาตรฐาน ซึ่งการทดสอบต้องปฏิบัติก่อนปิดฝ้าเพดาน, ปูกระเบื้อง และภายหลังการติดตั้งสุขภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ความดัน 100 PSI ระยะเวลา 2 ซม. โดยความดันต้องไม่ตก และต้องตรวจสอบ เพื่อค้นหาจุดรั่วที่ท่อน้ำทิ้ง น้ำดี และสุขภัณฑ์อีกครั้ง
- ต้องตรวจสอบระบบระบายน้ำทิ้ง โดยเฉพาะการอุดตัน และทิศทางการระบายน้ำว่าถูกต้องหรือไม่ โดยใช้ลูกปิงปองหย่อนลงในท่อน้ำทิ้งบริเวณที่จะทำการทดสอบ โดยมีวิธีการทดสอบดังนี้
- จัดเตรียมลูกปิงปองที่จะทำการทดสอบ
- ถอดข้องอ 90 องศา ที่ปลายจุดท่อระบายน้ำที่จะทำการทดสอบที่บ่อดักกลิ่น
- หยอดลูกปิงปองแล้วกรอกน้ำตาม หากท่อได้ Slope จะใช้ประมาณน้ำ 500 cc โดยประมาณ
- สังเกตปลายท่อที่บ่อพักดักกลิ่นว่ามีลูกปิงปองออกมาหรือไม่ หากไม่มีลูกปิงปองออกมาสามารถสันนิษฐานได้ว่าท่อน้ำตัน หรือ แนวท่อน้ำทิ้งไม่ได้ Slope
- ท่อระบายน้ำต้องตรวจสอบ SLOPE ให้ถูกต้อง การใช้ SLOPE มากเกินไปจะเกิดผลเสีย คือทำให้ระดับน้ำในชักโครกลดลง ซึ่งมีผลต่อการดักกลิ่น
- ภายในห้องน้ำ ข้อต่อที่จะต่อกับก๊อกฝักบัว ท่อน้ำดีอ่างล้างหน้า ท่อน้ำดีชักโครก สายชำระ ต้องเสมอกับระดับผิวของผนัง โดยมีข้อปฏิบัติ ดังนี้
- ข้อต่อสำหรับท่อน้ำดี และน้ำร้อนที่จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ฝักบัว ก๊อกน้ำ สายชำระ ต้องใช้ข้อต่อเหล็กชุบสังกะสีเท่านั้น ส่วนของท่อน้ำทิ้งใช้ท่อ PVC 8.5
- ตำแหน่งของท่อที่ฝังในผนังข้อ 1 ต้องฝังไว้ในตำแหน่งตามที่ระบุในแบบ โดยปลายท่อต้องอยู่เสมอกับผิวผนังของห้อง เช่น หินแกรนิต กระเบื้อง โดยต้องอยู่ในแนวระดับขนานกับพื้นห้อง และใส่ปลั๊กอุดให้เรียบร้อย เพื่อกันเศษปูน และวัสดุอื่นๆที่ อาจจะตกค้างเข้าไปในเส้นท่อ
- ทดสอบแรงดันในท่อน้ำดีตามมาตรฐาน ส่วนท่อน้ำทิ้งให้ตรวจสอบโดยทดลองเปิดใช้งาน และสังเกตจุดรั่วซึมต่างๆ(ถ้ามี) ทั้งนี้หากมีการรั่วซึมที่ข้อต่อที่ฝังในผนังจะสามารถตรวจสอบ และแก้ไขได้ทันที แต่ถ้าหากจุดที่รั่วซึมฝังลึกเข้าไปในผนังจะตรวจสอบและแก้ไขได้ยากรวมถึงหากมีการซ่อมบำรุงในอนาคต จะสามารถทำได้สะดวกกว่า และตรวจสอบงานได้ทันที
- การทดสอบแรงดันในท่อน้ำดีตามข้อ 8.3 หากมีการตัดต่อ หรือทำเพิ่มหรือแก้ไขงานท่อ ต้องทำการทดสอบใหม่อีกรอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่เกิดการรั่วซึมจากการทำงานเพิ่มในภายหลัง
- ก่อนติดตั้งสุขภัณฑ์ทุกชิ้น ต้องเปิดน้ำไล่เศษวัสดุต่างๆ ที่ตกค้างในเส้นท่อให้สะอาดก่อนเพื่อให้การใช้งานของสุขภัณฑ์ต่างๆ เป็นไปด้วยดี ไม่มีการอุดตัน
- ติดตั้งสุขภัณฑ์ตามที่ผู้ผลิตกำหนด และระบุตามประเภทอย่างเคร่งครัด
- ปฏิบัติตามที่ระบุข้างต้นให้ครบถ้วน เพราะหากมีการรั่วซึมเกิดขึ้นในภายหลัง จะแก้ไขได้ยากเสียค่าใช้จ่าย และเวลามาก
- ห้ามยึดท่อต่างๆ โดยเจาะเข้าที่แผ่นพื้นสำเร็จรูป เพราะอาจทำให้ลวดขาดหรือเสียหายได้
2.การตรวจงานติดสุขภัณฑ์
มาตรฐาน และข้อกำหนดในการตรวจงานติดสุขภัณฑ์
สุขภัณฑ์ทุกชนิด เช่น อ่างอาบน้ำ โถปัสสาวะ โถชักโครก ที่วางสบู่ ฝักบัว ราวแขวนผ้า และอื่นๆ ใช้ผลิตภัณฑ์ ขนาด และลักษณะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
วิธีการตรวจงานติดสุขภัณฑ์
1.การติดตั้งโถส้วม
1.1 วัดระยะจากผนัง (ที่ปูกระเบื้องหรือหินอ่อนแล้ว) ถึงจุดศูนย์กลางของท่อรับโสโครก ให้มีระยะประมาณ 27-30 ซม. แล้วแต่รุ่นของสุขภัณฑ์
1.2 ประกอบอุปกรณ์หม้อน้ำ ตามคู่มือการประกอบที่แนบอยู่ในกล่องชุดอุปกรณ์
1.3 ประกอบถังหม้อน้ำของโถส้วมเข้ากับ ตัวโถส้วม
1.4 ต่อท่อทางน้ำเข้าถังพักน้ำของโถส้วม
1.5 ทดสอบการทำงาน ดังนี้
1) เปิดวาล์วปล่อยน้ำเข้าหม้อน้ำ เพื่อตรวจสอบความบกพร่องต่าง ๆ
2) ตรวจดูระดับน้ำในถังพักน้ำว่าเมื่อลูกลอยปิด และวาล์วท่อทางน้ำเข้าในอุปกรณ์หม้อน้ำอยู่ในตำแหน่งสูงสุด ระดับน้ำอยู่ที่ตำแหน่งขีดเครื่องหมายระดับน้ำในหม้อน้ำหรือไม่
– ในกรณีที่ระดับน้ำในหม้อน้ำอยู่ต่ำกว่าขีดเครื่องหมายในหม้อน้ำ ให้ดัดก้านลูกลอยขึ้น เล็กน้อย
– ในกรณีที่ระดับน้าในหม้อน้ำอยู่สูงกว่าขีดเครื่องหมายในถังพักน้ำ ให้ดัดก้านลูกลอยลง
3)ทดสอบสภาพการทำงานของโถส้วมโดยทดสอบการฟลัช และดูความเคลื่อนไหวของน้ำภายในโถส้วม ลักษณะของการทำงานที่ดี จะมีแรงหมุนวนของน้ำ และแรงดูดชำระดี
2.ข้อควรระวังในการติดตั้งโถส้วม
2.1 ในกรณีที่ศูนย์กลางของท่อระบายออกของโถส้วมไม่อยู่ในศูนย์กลางของท่อรับโสโครกจะทำให้การฟลัชและแรงดูดไม่เพียงพอ สิ่งโสโครกอาจ ลงได้ไม่หมดในการชำระล้างครั้งเดียว ตลอดจนการระบายน้ำลงไม่สัมพันธ์กัน
2.2 ไม่ควรใช้ซีเมนต์ขาวใส่ภายในฐานโถส้วมโดยรอบเป็นจำนวนมาก เนื่องจากซีเมนต์ขาวจะขยาย และหดตัวที่อุณหภูมิต่างๆ อาจทำให้ฐานของโถส้วมแตกร้าวได้
2.3 การดัดก้านของลูกลอยในอุปกรณ์หม้อน้ำ ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรดัดก้านลูกลอยครั้งละมากๆ และให้ตรวจสอบว่าเมื่อดัดก้านลูกลอยแล้ว ส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกลอย และก้านไม่ติดขัดกับตัวหม้อน้ำ และอุปกรณ์อื่นใด
2.4 สายท่อน้ำเลี้ยงในชุดอุปกรณ์หม้อน้ำ จะต้องอยู่ในตำแหน่งตามที่ปรากฏอยู่ในกรรมวิธีการประกอบที่แนบมาเสมอ
2.5 ระดับของน้ำที่อยู่ต่ำหรือสูงกว่าขีดเครื่องหมายในหม้อน้ำจะทำให้ประสิทธิภาพในการฟลัชไม่ดีเท่าที่ควร
2.6 ตำแหน่งระยะของศูนย์กลางท่อรับโสโครกสำหรับการติดตั้งโถส้วมชนิดอุปกรณ์หม้อน้ำ ถ้าน้อยกว่า 28 ซม. จะทำให้ฝาปิดของโถส้วมไม่อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งเปิดได้
2.7 ควรปล่อยน้ำภายในท่อทางน้ำ เข้าเพื่อไล่ตะกอนหรือเศษสิ่งสกปรกที่อาจมีค้างอยู่ภายในก่อนต่อท่อน้ำเข้าหม้อน้ำ วิธีนี้จะเป็นการป้องกันมิให้ตะกอน หรือเศษสิ่งสกปรกต่างๆ ไปค้างในชุดอุปกรณ์หม้อน้ำ อาจทำให้ลิ้นปิด-เปิดน้ำของชุดอุปกรณ์ค้าง และมีน้ำไหลลงโถส้วมได้ตลอดเวลา
2.8 ผู้รับเหมาต้องติดตั้งโถชักโครกให้ครบตามแบบ โดยยึดด้วยสกรูชั่วคราวก่อน(ยังไม่ต้องใส่ขี้ผึ้ง และยาแนว)
2.9 ผู้ควบคุมงานตรวจสอบ โดยให้ผู้รับเหมาใส่ขี้ผึ้งในแต่ละโถชักโครกต่อหน้าจนครบถ้วน ทั้งนี้ให้ใช้ขี้ผึ้งที่มาพร้อมกับโถชักโครกเท่านั้น หากขาดหายไปผู้รับเหมาต้องซื้อเพิ่มมาเอง
2.10 ห้ามผู้รับเหมาใส่ขี้ผึ้งก่อนที่ผู้ควบคุมงาน จะเข้ามาตรวจสอบ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้
2.11 หากผู้รับเหมาใส่ขี้ผึ้งไปก่อนที่ผู้ควบคุมงาน จะเข้ามาตรวจสอบ ผู้รับเหมาต้องรื้อโถชักโครกชุดนั้นออก หรือหาวิธีการอื่นใดที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใส่ขี้ผึ้งครบถ้วน และถูกต้องทั้งนี้ค่าใช้จ่าย และเวลาที่เกิดขึ้นนี้ ผู้รับเหมาต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งสิ้น
แนวทางการตรวจงานติดสุขภัณฑ์
1.สุขภัณฑ์ทุกชนิด ต้องมีลักษณะตรงตามที่กำหนดในแบบก่อสร้าง หรือตามที่บริษัทได้เลือกไว้
2.การติดตั้งสุขภัณฑ์ ต้องให้ได้ระดับ และมีตำแหน่งที่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในแบบ
3.สายชำระ, ก๊อกอ่างล้างหน้า, สายน้ำดีหม้อน้ำชักโครก, ก๊อกอ่างล้างจานทุกจุด จะต้องทำการติดตั้ง STOP VALVE ชนิดบอลวาล์ว เพื่อความสะดวกในการซ่อมแซม
4.การติดตั้งสุขภัณฑ์ และอุปกรณ์ทุกชนิด จะต้องแข็งแรงไม่โยกคลอน
5.สุขภัณฑ์ทุกชนิด เมื่อติดตั้งเสร็จพร้อมส่งงาน ต้องไม่มีรอยถลอก หรือรูปร่างผิดไปจากเดิม
6.อุปกรณ์ประกอบต่างๆ เช่น ที่วางถ้วย, จานใส่สบู่, ราวแขวนผ้า, ที่ใส่กระดาษชำระ ให้ติดตั้งตามแบบที่กำหนดไว้
7.ต้องติดตั้งปุ่มยางกันกระแทกที่สุขภัณฑ์ หรือตามจุดที่ต้องมีการป้องกัน
8.ต้องมีการป้องกันรอยขีดข่วน และคราบเลอะโดยทำการหุ้มพลาสติกสุขภัณฑ์, อุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องน้ำ และที่ล้างจาน ภายหลังตรวจผ่าน
3.งานระบบระบายน้ำนอกอาคาร และงานสุขาภิบาล เกี่ยวข้องกับการตรวจงานติดสุขภัณฑ์
มาตรฐาน และข้อกำหนดในการตรวจสอบงานสุขาภิบาล
1.บ่อพักน้ำทิ้ง เป็น คสล.สำเร็จรูป หรือตามผู้ออกแบบกำหนด
2.ท่อระบายน้ำทิ้ง ควรใช้ท่อซีเมนต์ขนาด 8 นิ้ว แบบปากระฆัง ตามมาตรฐาน มอก. 622-2529 ขนาดไม่เล็กกว่าตามที่ระบุในแบบ ให้ฝังดินโดยให้มีความลึกระดับหลังท่อไม่น้อยกว่า 30 ซม. ความลาดเอียงตามแนวการไหลของน้ำไม่น้อยกว่า 1 : 200
3.ถังบำบัดน้าเสีย, บ่อดักไขมัน, ถังเก็บน้ำบนดินหรือใต้ดิน, ใช้ขนาด และรุ่นตามที่ระบุในแบบ
วิธีการดำเนินการงานสุขาภิบาล
1.จุดต่อท่อของท่อซีเมนต์ใยหินปากระฆัง จะต้องยึดประสานด้วยปูนทรายเสมอ เมื่อวางท่อเสร็จ
กลบรอบท่อด้วยทรายให้แน่น จึงค่อยถมดินเดิมกลับ
2.ท่อน้ำทิ้งที่ต่อเข้ากับบ่อพักสำเร็จรูปจะต้องยาปูนทรายให้เรียบร้อย และต้องเทก้นบ่อพักด้วยคอนกรีตหยาบเสมอท้องท่อระบายน้ำทิ้ง 8 นิ้ว
3.ระดับปากบ่อพักท่อน้ำทิ้ง ฝาบ่อบำ ฝาบ่อดักไขมัน บ่อซึมน้ำฝน ให้ยึดระดับ +0.05 ม. จากระดับดินถม ส่วนคอนกรีตรัดฝาถังเก็บน้ำใต้ดิน ให้อยู่ที่ระดับ +0.10 ม. จากระดับดินถม
ทั้งนี้ในส่วนของงานปรับดินจัดสวน ที่ต้องสัมพันธ์กับระดับของฝาบ่อต่างๆ ในบ้าน ควรจัดเตรียมงาน ดังนี้
3.1 จัดทำผังแสดงทิศทางการระบายน้ำ และระบบสุขาภิบาลโดยรอบบ้านให้เหมาะสม และถูกต้อง
3.2 วางแผน กำหนด และติดตั้งบ่อต่างๆ เช่น บ่อพักต่างๆ บ่อดักกลิ่น บ่อดักไขมัน บ่อกรวด ถังบำบัดน้ำเสีย ถังเก็บน้ำใต้ดิน ให้ถูกต้องตามค่าระดับที่กำหนดไว้ในมาตรฐานงาน
3.3 กำหนด และตีเส้นค่าระดับอ้างอิงให้ผู้รับเหมางานสวน เพื่อให้ค่าระดับที่ใช้สอดคล้องกัน
3.4 ผู้รับเหมางานบ้านควรจัดทำใบส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมางานสวน โดยประสานงานกับผู้ควบคุมงาน
3.5 เมื่อผู้รับเหมางานสวนทำงานเสร็จ ผู้ควบคุมงานต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะรับมอบงานทุกครั้ง รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับงานที่ทำเสร็จแล้ว ตามรายละเอียดในใบส่งมอบพื้นที่
4.ฝาบ่อพักจะต้องเป็นแนวตรง และขนานกับรั้ว รวมถึงต้องเสมอกับขอบบ่อพัก
5.ท่อระบายน้ำทิ้งภายนอกบ่อพักทั่วไป ให้ก้นบ่อเสมอท้องท่อ (ในบ่อพักจะต้องไม่มีน้ำขัง) บ่อพักลูกสุดท้ายหน้าบ้านก่อนออกท่อระบายน้ำทิ้งสาธารณะก้นบ่อพักจะต้องต่ำกว่าท้องท่อ 0.10 ม.
6.การติดตั้งปั๊มพ์น้ำ และการเดินท่อ ถูกต้องตามแบบที่มาตรฐานกำหนด
7.บ่อพักของท่อระบายน้ารอบบ้าน ต้องมีทุกระยะไม่เกิน 6 ม. หรือตามที่กาหนดในแบบก่อสร้าง
8.พื้นช่องใส่ขยะหน้าบ้าน ต้องมี FLOOR DRAIN (ช่องระบายน้าทิ้ง) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง2” และต่อท่อเข้ากับบ่อพักลูกสุดท้ายก่อนออกนอกบ้าน
9.การติดตั้งถังบาบัด หรือถังเก็บน้าบนดินหรือใต้ดิน ให้มีฐานรองรับตามที่กาหนดในแบบก่อสร้าง
10.ฐานรับปั๊มพ์น้ำ ต้องหล่อเป็นโครงสร้างคอนกรีตยึดเกาะกับโครงสร้างของอาคาร
- ฐานปั๊มพ์น้ำอยู่ระดับเดียวกับ finishing หลังบ้าน ถ้าอยู่บนซักล้างควรมีร่องกรวดแยกส่วนบริเวณออกจากซักล้าง
- ท่อเข้า-ออกไม่กีดขวางแนวทางเดิน หรือให้อยู่ด้านชิดผนัง
11.บ่อพักสำเร็จรูปด้านบนของบ่อห้ามก่ออิฐเสริม
12.การติดตั้งท่อต่างๆ และรายละเอียดของถังบำบัด ให้ยึดถือตามที่ระบุในแบบก่อสร้าง
แนวทางการตรวจสอบงานสุขาภิบาล เกี่ยวข้องกับการตรวจงานติดสุขภัณฑ์
1.ใช้ชนิด และขนาดของท่อถูกต้องตามแบบ
2.ความลาดเอียง, ตำแหน่ง, ระดับ, แนว ของฝาบ่อพัก, ฝาบ่อบำบัด, ฝาบ่อดักไขมันฝาถังเก็บน้าใต้ดิน ถูกต้องตามมาตรฐาน
3.การติดตั้งปั๊มพ์น้ำและวาล์วต่างๆ ถูกต้องตามมาตรฐาน
4.การเดินท่อ และติดตั้งถังบำบัด, ถังน้ำดี, บ่อดักไขมัน, บ่อพัก ถูกต้องตามมาตรฐาน
สรุป
การตรวจงานติดสุขภัณฑ์ งานระบบน้ำดี งานสุขาภิบาลเป็นขั้นตอนที่ช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานสุขภัณฑ์ในระยะยาว โดยการมีที่ปรึกษางานก่อสร้างเข้ามาดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการติดตั้ง ช่วยให้มั่นใจได้ว่าสุขภัณฑ์ได้รับการติดตั้งอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่เกิดปัญหารั่วซึม ระดับของการติดตั้งได้ฉาก และได้แนว และระบบน้ำดี-น้ำเสียทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การตรวจงานติดสุขภัณฑ์ที่ละเอียดรอบคอบ จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการใช้งานจริง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมในอนาคต และทำให้สุขภัณฑ์ในบ้านของคุณสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัยในระยะยาว
เราแนะนำคลิปเพิ่มเติม >>> ความสำคัญของ CM หรือคอนเซาท์ในงานก่อสร้าง ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค วิศวะการันตี
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?