บทบาทของวิศวกร สถาปนิก ในการควบคุมงานก่อสร้าง
บทบาท และความสำคัญของวิศวกร และสถาปนิกในการตรวจสอบ บริหาร และควบคุมงานก่อสร้าง
งานก่อสร้างเป็นงานที่มีวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลากหลายแขนงมาร่วมกันทำงาน เพื่อให้งานก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปได้ ในแง่ของการตรวจสอบ และบริหารงานก่อสร้าง โดยเฉพาะงานก่อสร้างบ้าน หรืออาคารนั้น หากจะกล่าวถึงวิชาชีพสำคัญ คงจะหนีไม่พ้นสถาปนิก และวิศวกร โดยทั้งวิศวกรโยธา, วิศวกรระบบ และสถาปนิก ล้วนมีความสำคัญในงานก่อสร้างด้วยกันทั้งนั้น
หากจะเปรียบการก่อสร้างบ้านว่าเหมือนการสร้างร่างกายมนุษย์ คงจะเปรียบงานโครงสร้าง คือ โครงกระดูกแกนหลักของร่างกาย ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของวิศวกรโยธา ระบบไฟฟ้า-ประปา-สุขาภิบาล ก็จะเป็นระบบต่างๆ ภายในร่างกายตั้งแต่การเต้นของหัวใจ ไปจนถึงการขับถ่าย โดยมีวิศวกรระบบเป็นผู้ดูแล ส่วนความสวยงามต่างๆ และฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็น ก็คงเปรียบได้กับผิวพรรณหน้าตา และบุคลิกภาพ ซึ่งมีสถาปนิกเป็นผู้ดูแล รวมกันเป็นร่างกายมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีชีวิต สวยงาม และมั่นคงแข็งแรง ซึ่งก็เหมือนกันกับองค์ประกอบของบ้าน หรืออาคาร คงไม่มีส่วนใดสำคัญไปกว่าส่วนใด และคงไม่สามารถขาดองค์ประกอบใดไปได้
การทำงานร่วมกันของทั้ง 3 วิชาชีพข้างต้นก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่างานก่อสร้างจะเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และยังมีความแตกต่างในหน้าที่ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ บทความนี้วิศวะจะพามาดูบทบาท และความสำคัญของแต่ละฝ่ายในเชิงเปรียบเทียบกันครับ
1. วิศวกรโยธา
วิศวกรโยธา มีบทบาทสำคัญในการควบคุมและตรวจสอบโครงสร้างหลักของสิ่งก่อสร้าง เช่น ฐานราก, เสา, คาน, และหลังคา การทำงานของวิศวกรโยธามีความเชี่ยวชาญในด้านการคำนวณความแข็งแรง และความคงทนของวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้โครงสร้างรองรับน้ำหนักและแรงต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย
• การตรวจสอบโครงสร้าง วิศวกรโยธาจะทำการตรวจสอบโครงสร้างทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการก่อสร้างจริง เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างสามารถรับน้ำหนัก และทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้
• การควบคุมคุณภาพ วิศวกรโยธาควบคุมคุณภาพของวัสดุ เช่น คอนกรีต เหล็ก และอื่นๆ เพื่อให้ได้คุณสมบัติ และเป็นไปตามมาตรฐานก่อสร้าง
2. วิศวกรระบบ
วิศวกรระบบ ครอบคลุมงานด้านระบบภายในอาคาร เช่น ระบบไฟฟ้า, ระบบประปา, ระบบปรับอากาศ และระบบระบายน้ำ การทำงานของวิศวกรระบบมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ และควบคุมการติดตั้ง รวมถึงการควบคุมการเชื่อมต่อระบบเหล่านี้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
• การออกแบบและตรวจสอบระบบ วิศวกรระบบมีหน้าที่ออกแบบและตรวจสอบการติดตั้งระบบต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น การจัดวางระบบไฟฟ้าให้ปลอดภัย หรือการติดตั้งระบบท่อประปาเพื่อป้องกันการรั่วซึม
• การควบคุมมาตรฐานระบบ วิศวกรระบบต้องมั่นใจว่าการติดตั้งระบบต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือข้อกำหนดของท้องถิ่น เพื่อให้ระบบทำงานอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
3. สถาปนิก
สถาปนิก มีบทบาทในการออกแบบด้านสุนทรียภาพและฟังก์ชันของอาคารให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อาคาร ในการตรวจสอบ และควบคุมงานก่อสร้าง สถาปนิกจะรับผิดชอบในการติดตามการก่อสร้างตามแบบที่ออกแบบไว้ โดยเน้นให้โครงสร้าง งานระบบ ฟังก์ชัน และความสวยงามในการออกแบบสอดคล้องกันอย่างลงตัว
• การตรวจสอบงานก่อสร้างตามแบบ สถาปนิกต้องตรวจสอบการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบที่ออกแบบไว้ และดูแลให้การจัดการพื้นที่ใช้สอยของอาคาร และการใช้วัสดุตรงตามแนวคิดการออกแบบ
• การควบคุมการใช้วัสดุ สถาปนิกยังช่วยควบคุมการเลือกใช้วัสดุให้ตรงตามที่กำหนดในแบบ เพื่อให้ตรงกับดีไซน์ที่วางไว้และได้ผลลัพธ์ที่สวยงาม
สรุป
บทบาทของวิศวกร สถาปนิก กล่าวได้ว่าเป็นการทำงานร่วมกัน ของวิศวกรโยธา, วิศวกรระบบ และสถาปนิก ทุกวิชาชีพต้องทำงานสอดคล้องกัน เพื่อให้ได้โครงสร้าง และระบบที่ปลอดภัย และสวยงาม สถาปนิกจะเน้นฟังก์ชันการออกแบบ และความสวยงามของอาคาร ในขณะที่วิศวกรโยธาจะเน้นที่โครงสร้างให้แข็งแรง และวิศวกรระบบจะดูแลให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกันนี้จะช่วยให้อาคารก่อสร้างออกมาได้ตามเป้าหมายทั้งในเรื่องความสวยงามและความปลอดภัย
การทำงานร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่ายนี้ มีความสำคัญต่อการสร้างบ้าน หรืออาคารที่สมบูรณ์แบบ และตอบโจทย์ทุกด้าน ทั้งด้านความปลอดภัย และการใช้งาน จะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปก็ไม่ได้ จากที่กล่าวไปแล้วตอนข้างต้นบทความ ถ้าเปรียบเทียบบ้านเสมือนกับร่างกายเรา เราจะให้ความสำคัญกับส่วนไหน เราจะเลือกเน้นดูแลกระดูก หรือระบบต่างๆ ในร่างกายมากกว่า หรือจะเลือกหน้าตาบุคลิกภาพเป็นอย่างแรก หรือว่า…เราควรจะเลือกให้ความสำคัญ ดูแลทุกส่วนให้มีคุณภาพเหมาะสม ประกอบกันเป็นร่างกายที่สมบูรณ์ เรื่องนี้เราต้องดูให้ดี วิศวะ…รับประกัน
ดูคลิป BOQ คือ? ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค วิศวะการันตี
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?
#วิศวะการันตี #บริหารงานก่อสร้าง #ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
#คอนซัลท์ #ควบคุมงานก่อสร้าง
#บทบาทวิศวกรโยธา #วิศวกรระบบ
#การทำงานของสถาปนิก #การตรวจสอบงานก่อสร้าง