การสร้างบ้าน หรืออาคารใดๆ ก็ตาม คือ หนึ่งในการลงทุนที่มีมูลค่าสูง และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือใช้งานอาคารของเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการในระยะยาว บ้านหรืออาคารที่ผู้รับเหมาสร้างเสร็จแล้ว อาจไม่ใช่บ้านหรืออาคารที่สมบูรณ์พร้อมเข้าอยู่อาศัยทันที การตรวจรับบ้านหรือตรวจก่อนส่งมอบบ้าน ก่อนรับมอบงานจากผู้รับเหมา จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้มั่นใจว่างานก่อสร้างทั้งหมดดำเนินไปตามข้อตกลง และได้มาตรฐาน
“ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญ ก่อนจะได้บ้าน หรืออาคารที่ไร้ปัญหากวนใจ”
หากไม่มีการตรวจสอบที่ละเอียดก่อนการรับมอบ บ้านหรืออาคารอาจมีข้อผิดพลาดที่มองข้ามไป และอาจนำไปสู่ปัญหาในระยะยาว เช่น งานโครงสร้างไม่ได้มาตรฐาน ระบบไฟฟ้า และประปาทำงานผิดพลาด หรือวัสดุตกแต่งไม่ได้คุณภาพ
ในกระบวนการนี้ ที่ปรึกษางานก่อสร้าง หรือที่มักเรียกกันว่า คอนเซาท์ พร้อมกับทีม QC inspection จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าของบ้าน และเป็นคนกลางในการตรวจสอบบ้าน หรืออาคารทั้งระบบอีกครั้ง ตั้งแต่โครงสร้างที่มองเห็นได้ไปจนถึงรายละเอียดการตกแต่งภายใน การมีทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจก่อนรับมอบบ้านจะช่วยลดความเสี่ยง และช่วยให้เจ้าของบ้านมั่นใจได้ว่าพื้นที่ที่กำลังจะเข้าอยู่อาศัยนั้นปลอดภัย ได้มาตรฐาน และปราศจากข้อบกพร่องที่อาจส่งผลต่อการอยู่อาศัยในระยะยาว
ทำไมต้องมีการตรวจรับบ้านหรืออาคารก่อนรับมอบงานจากผู้รับเหมา
การตรวจสอบบ้าน หรืออาคารก่อนรับงานมอบจากผู้รับเหมาเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากมีข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างดำเนินงานก่อสร้าง ซึ่งหากตรวจพบหลังจากการเข้าอยู่อาศัยแล้ว อาจแก้ไขได้ยาก ส่งผลกระทบต่อการใช้งาน และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกว่าที่คาดคิด หรือหากเป็นข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับระบบที่อันตราย อาจก่อความเสียหายต่อชีวิตผู้ใช้งานได้ เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างอาจมองข้ามข้อบกพร่องบางอย่างไปได้ แล้วต้องมารับผลกระทบกับปัญหาที่น่าปวดหัว การใช้บริการที่ปรึกษางานก่อสร้างจะช่วยให้สามารถตรวจพบปัญหาได้ก่อนที่บ้าน หรืออาคาร จะสร้างปัญหาให้ผู้ใช้งาน
ประโยชน์ของการตรวจรับบ้าน หรืออาคาร ก่อนการใช้งาน
ป้องกันข้อผิดพลาดของงานก่อสร้าง
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่างานก่อสร้างเป็นไปตามแบบที่กำหนด
- เช็กคุณภาพวัสดุที่ใช้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานตามข้อตกลงหรือไม่
- ป้องกันปัญหาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ผนังแตกร้าว พื้นล่อน หรือหลังคารั่ว ฯลฯ
ตรวจสอบระบบต่างๆ ภายในบ้านให้พร้อมใช้งาน
- ตรวจสอบแรงดันน้ำในระบบประปา และการรั่วซึมของท่อ
- ตรวจสอบระบบไฟฟ้า ปลั๊ก สวิตช์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกจุด ให้สามารถใช้งานได้ตามมาตรฐาน
- ตรวจสอบระบบระบายน้ำว่าทำงานได้ดี และไม่มีการอุดตัน
- ตรวจสอบระบบปรับอากาศ และระบบระบายอากาศ
ลดปัญหาการซ่อมแซมภายหลัง และปกป้องสิทธิของเจ้าของบ้าน
- สามารถให้ผู้รับเหมาดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องก่อนการส่งมอบ
- ลดความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่ไม่จำเป็น
- ทำให้มั่นใจว่าบ้าน หรืออาคารมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด
รายการตรวจสอบก่อนรับมอบงานก่อสร้าง
1. งานโครงสร้างหลัก
- ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เสา คาน และพื้น ว่ามีรอยร้าว หรือความเสียหายหรือไม่
- ตรวจสอบระยะ ขนาด และระดับของส่วนต่างๆ ให้อยู่ในมาตรฐาน
- ตรวจสอบแนวเสา และผนังว่าตั้งฉาก และได้ระดับหรือไม่
2. งานระบบไฟฟ้า
- ตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตู้ควบคุมไฟฟ้า และเบรกเกอร์ว่าใช้งานได้ตามมาตรฐาน
- ตรวจสอบตำแหน่งปลั๊กไฟ และสวิตช์ไฟว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
- ทดสอบการเปิด-ปิดไฟในทุกจุดของบ้าน
- ตรวจสอบการเดินสายไฟภายในบ้านให้ได้มาตรฐาน
- ตรวจสอบการตัดไฟ และค่าความต้านทานดิน เพื่อความปลอดภัย หากเกิดกระแสไฟรั่ว หรือช็อต
3. งานระบบประปา และสุขาภิบาล
- ตรวจสอบแรงดันน้ำว่ามีความสม่ำเสมอหรือไม่
- ตรวจสอบว่ามีการรั่วซึมของท่อประปาใต้พื้น หรือภายในผนังหรือไม่
- ทดสอบการระบายน้ำในท่อว่าทำงานได้ดี ไม่มีการอุดตัน
- ตรวจสอบอุปกรณ์สุขภัณฑ์ เช่น อ่างล้างหน้า ฝักบัว และโถสุขภัณฑ์ ว่าทำงานได้ปกติ
4. งานระบบปรับอากาศ และระบายอากาศ
- ตรวจสอบการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และระบบระบายอากาศ
- ตรวจสอบการทำงานของพัดลมดูดอากาศในห้องน้ำ และห้องครัว
5. งานสถาปัตยกรรม และการตกแต่งภายใน
- ตรวจสอบความเรียบร้อยของงานฉาบผนัง และสีทาผนัง
- ตรวจสอบการติดตั้งกระเบื้องปูพื้นว่ามีความสม่ำเสมอ ไม่ล่อน และไม่มีรอยแตกร้าว
- ตรวจสอบการติดตั้งวงกบ และบานประตู หน้าต่าง ให้แนบสนิท ไม่มีช่องว่าง
- ตรวจสอบเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน และวัสดุปิดผิวให้มีคุณภาพ และไม่มีตำหนิ
6. งานภายนอกบ้าน และพื้นที่โดยรอบ
- ตรวจสอบพื้นที่จอดรถ พื้นภายนอก และทางเดินรอบบ้านให้เรียบเสมอกัน
- ตรวจสอบรั้วบ้าน และประตูทางเข้า-ออก มีการใช้งานได้ตามปกติ
- ตรวจสอบระบบรางน้ำฝน และการระบายน้ำรอบบ้าน
บทบาทของที่ปรึกษางานก่อสร้างในการตรวจรับงานก่อสร้าง
ที่ปรึกษางานก่อสร้าง หรือคอนเซาท์ พร้อมกับทีม QC inspection มีหน้าที่สำคัญในการช่วยเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการตรวจรับงานก่อสร้างอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน และไม่มีข้อผิดพลาดที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว
1. การตรวจสอบเชิงเทคนิค
- เปรียบเทียบงานจริงกับแบบก่อสร้าง
- ใช้เครื่องมือการตรวจสอบที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มั่นใจได้ในคุณภาพ
- ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างหลัก หากพบปัญหารอยร้าวที่มีความอันตราย
- ตรวจสอบระบบไฟฟ้า ปลั๊ก สวิตช์ และเบรกเกอร์
- ตรวจสอบระบบประปา ถังเก็บน้ำ และสุขภัณฑ์
- ตรวจสอบระบบระบายอากาศ และเครื่องปรับอากาศ
- ตรวจสอบการใช้งานของระบบอื่นๆ ที่มีเพิ่มเติม
2. รายงานการตรวจสอบ
- ระบุจุดที่ต้องแก้ไขให้ผู้รับเหมาดำเนินการอย่างชัดเจน
- ชี้แจงรายการอย่างละเอียด เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน
- บันทึกปัญหาที่พบ และแนวทางแก้ไข
3. ช่วยต่อรองและติดตามการแก้ไขของผู้รับเหมา
- หากพบข้อบกพร่องทีม QC inspection และคอนเซาท์สามารถช่วยเจ้าของบ้านเจรจากับผู้รับเหมาให้แก้ไขได้ตรงจุดตามมาตรฐานวิชาช่าง
- ตรวจสอบติดตามรายการแก้ไข เพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาที่พบได้รับการแก้ไขก่อนการส่งมอบ
สรุป
การตรวจก่อนส่งมอบบ้าน หรืออาคารก่อนการส่งมอบจากผู้รับเหมาเป็นขั้นตอนสำคัญที่เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการไม่ควรมองข้าม บ้าน หรืออาคารที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียดจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าโครงสร้าง ระบบไฟฟ้า ประปา และรายละเอียดต่างๆ ได้มาตรฐาน และไม่มีข้อผิดพลาดที่อาจส่งผลในระยะยาว
การมีที่ปรึกษางานก่อสร้าง หรือ คอนเซาท์ เข้ามาช่วยดูแลในขั้นตอนนี้ จะทำให้เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโครงการได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ตรวจพบข้อผิดพลาดได้ก่อนเข้าอยู่อาศัย และสามารถให้ผู้รับเหมาดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยได้ก่อนการส่งมอบ เพื่อให้มั่นใจว่าบ้านของคุณได้รับการก่อสร้างตามมาตรฐาน และพร้อมสำหรับการอยู่อาศัย และการใช้งานโดยไร้ความกังวลอย่างแท้จริง
เราแนะนำคลิปเพิ่มเติม >>> ความสำคัญของ CM หรือคอนเซาท์ในงานก่อสร้าง ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค วิศวะการันตี
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?