สี คือ ส่วนสำคัญที่จะเพิ่มความสวยงามให้กับอาคาร, บ้าน และโรงงาน แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเสมอ คือเมื่อทาสีไม่นานสีจะซีดจาง หลุดล่อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การเตรียมพื้นผิวไม่ถูกต้อง ทาสีไม่ครบระบบ เลือกใช้สีผิดประเภท หรือใช้สีที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น เพื่อให้การทาสีเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด จึงควรเลือกใช้สีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวต่างๆ และสภาพอากาศ รวมถึงวิธีการทาสีที่ถูกต้องด้วย การตรวจสอบงานทาสีทั้งก่อนเริ่มทำ-ระหว่างทำ-หลังทำ จึงมีความสำคัญไม่แพ้งานส่วนอื่นๆเลย
“งานทาสีที่ดี ไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่ต้องเป็นเกราะป้องกันอาคารให้ทนทานต่อกาลเวลา”
งานทาสีอาคารเป็นขั้นตอนช่วงสุดท้ายของงานก่อสร้างที่ช่วยเพิ่มความสวยงาม ปกป้องพื้นผิว และยืดอายุการใช้งานของอาคารให้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการตรวจสอบคุณภาพที่ดี อาจเกิดปัญหาสีหลุดล่อน ไม่เรียบเนียน หรือสีเพี้ยนได้ การตรวจสอบงานทาสีโดยคอนเซาท์ ผู้ควบคุมงาน หรือที่ปรึกษางานก่อสร้าง จึงมีความสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่างานสีได้มาตรฐานทั้งด้านความเรียบร้อย ความทนทาน และความสม่ำเสมอของเฉดสีตามที่กำหนด
มาตรฐาน และข้อกำหนดในการตรวจสอบงานสี
- สีภายใน และภายนอกอาคารทั้งหมด ให้ใช้ผลิตภัณฑ์สีที่กำหนดให้ใช้สำหรับโครงการ ตามข้อตกลงเท่านั้น
- ชนิด และประเภทของสี
- พื้นผิวปูนให้ใช้สีรองพื้น และสีทับหน้าตามลักษณะดังนี้
- ผนังภายนอก ทาด้วยสีน้ำอะคริลิค ชนิดทาภายนอก
- ผนังภายใน ทาด้วยสีน้ำอะคริลิค ชนิดทาภายใน
- สีที่ใช้สำหรับทารองพื้นต้องเป็นสีผลิตภัณฑ์เดียวกันกับสีจริงที่กำหนดให้ใช้
- พื้นผิวไม้ต่างๆ ให้ทาสีด้วยสีน้ำมันเคลือบ (ส่วนผิวไม้ต่างๆ ควรให้ทาด้วยยูริเทน) หรือตามที่ระบุในแบบ
- พื้นผิวเหล็ก จะต้องทาสีอย่างน้อย 3 ครั้ง
- สีที่ทาเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องเรียบไม่เป็นรอยแปรง มีสีสม่ำเสมอเท่ากันตลอด
- พื้นผิวทั่วๆ ไป จะต้องทาสีอย่างน้อย 3 ครั้ง
- หลังจากฉาบผิวบาง(Skim coat) เสร็จแล้วต้องทาสีรองพื้นทุกครั้ง แล้วตามด้วยสีทับหน้า
- ก่อนทำการทาสีต้องแจ้งขออนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อนทุกครั้ง
วิธีดำเนินการงานทาสีสำหรับผนังปูนฉาบภายใน และภายนอก
งานทาสีผนังปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเสมอ คือ เมื่อทาสีไม่นานสีจะซีดจาง หลุดล่อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การเตรียมพื้นผิวไม่ถูกต้อง ทาสีไม่ครบระบบ เลือกใช้สีผิดประเภท หรือใช้สีที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น เพื่อให้การทาสีเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด จึงควรเลือกใช้สีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวต่างๆ และสภาพอากาศ รวมถึงวิธีการทาสีที่ถูกต้องด้วย ซึ่งมาตรฐานงานทาสีมีหลักการปฏิบัติ ดังนี้
การเตรียมพื้นผิว
- ก่อนทาสีทุกครั้งต้องทำความสะอาดพื้นผิวให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยขจัดฝุ่น คราบไขมัน สนิมรา ตะไคร่น้ำออกให้หมด พื้นผิวที่จะทาสีต้องแห้งสนิท และอยู่ในสภาพเรียบร้อย
- สำหรับผนังผิวฉาบปูนทั้งภายใน และภายนอกที่ตกแต่งด้วยปูนฉาบบาง(Skim Coat) เพื่อให้ผิวเรียบ ให้ฉาบบนผิวปูนได้เลยไม่ต้องทาสีรองพื้นก่อน ต้องทำการฉาบเรียบ และทิ้งไว้ให้แห้ง ขัดด้วยกระดาษทราย หลังจากนั้นปัดฝุ่นออก ทั้งนี้ในส่วนที่มีงานระบบเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น โคมไฟ, สัญญาณเตือนไฟไหม้, ปลั๊ก, สวิตช์ เป็นต้น จะต้องติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และสามารถใช้งานได้ดีก่อน หลังจากนั้นจึงทาสีได้
- สำหรับผนังภายนอกรอบล่างควรทาสีกันชื้นตามระบบที่กำหนดไว้ ก่อนฉาบผิวบาง(Skim Coat) และทาสีรองพื้นก่อนทุกครั้ง
การทาสีรองพื้น
- สีรองพื้นต้องทาบนพื้นผิวปูนฉาบ และผิวฉาบบางก่อนทุกครั้งก่อนทาสีทับหน้า ทำหน้าที่เสริมให้สีทับหน้ายึดเกาะกับพื้นผิวได้ดี และป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างพื้นผิวปูฉาบกับสีทับหน้า ซึ่งความเป็นด่างของปูนฉาบจะทำให้สีทับหน้าซีดจางได้
- ในการทาสีรองพื้นชนิดยืดหยุ่นไม่ควรผสมน้ำ และต้องทาให้สีให้ทั่วเต็มหน้าสม่ำเสมอก่อนทาสีทับหน้า
- สำหรับผนังก่ออิฐฉาบปูน
- ผนังภายนอกหลังฉาบ Skim Coat แล้ว ต้องทาด้วยสีรองพื้นชนิดยืดหยุ่น ตามรุ่นที่ระบุไว้ในข้อตกลง เท่านั้น
- ผนังภายในหลังฉาบ Skim Coat ก่อนทาสีจริงหรือปู Wall Paper ต้องทาด้วยสีรองพื้นตามรุ่นที่ระบุไว้ในข้อตกลง เท่านั้น
การทาสีทับหน้า
- การทาสีทับหน้าควรทาอย่างน้อย 2 เที่ยวโดยทิ้งระยะให้สีที่ทาเที่ยวแรกแห้งสนิท แล้วจึงทาทับอีกครั้ง
- ก่อนทาสีให้ตรวจสอบผนังปูนฉาบก่อนทาสีภายใน และภายนอก ให้ได้คุณภาพที่กำหนดไว้ก่อน
สาเหตุที่ทำให้สีเกิดความบกพร่อง
- น้ำฝนที่แทรกซึมเข้าสู่โครงสร้างส่วนต่างๆ ของอาคารบ้านเรือน เพราะการออกแบบ และก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน
- อุปกรณ์รับ และระบายน้ำฝน น้ำประปา หรือน้ำทิ้งต่างๆ ชำรุด
- น้ำจากใต้ดินซึมผ่านสู่โครงสร้างของอาคาร เพราะขาดการป้องกัน(ไม่มีระบบกันซึม)
- ผนังปูนฉาบร้าวแตกลายงา ทำให้น้ำซึมเข้าไปละลายความเป็นด่างของปูนออกมาทำปฏิกิริยากับสีจริง ทำให้สีซีดได้
- การควบแน่นของความชื้นในอากาศซึ่งเกิดได้จาก
- การควบแน่นของความชื้นในอากาศตามธรรมชาติ
- การควบแน่นของความชื้นในอากาศ เนื่องจากการประกอบกิจการในอาคาร เช่น การหุงต้ม เป็นต้น
แนวทางตรวจสอบงานทาสี
1. การตรวจสอบก่อนเริ่มงานทาสี
ก่อนเริ่มงาน ควรตรวจสอบองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.1 ตรวจสอบพื้นผิวก่อนทาสี
- ผนังต้องแห้งสนิท มีความชื้นไม่เกิน 14% โดยใช้เครื่องวัดความชื้น (Moisture Meter)
- ไม่มีรอยแตกร้าว รอยรั่ว หรือคราบน้ำ หากพบต้องแก้ไขก่อนทาสี
- ผิวคอนกรีตต้องไม่มีคราบไขมัน ฝุ่นละออง หรือสิ่งสกปรกที่อาจลดการยึดเกาะของสี
1.2 ตรวจสอบวัสดุที่ใช้ทาสี
- สีที่ใช้ต้องเป็นไปตามสเปคที่กำหนดในแบบก่อสร้าง
- ตรวจสอบคุณสมบัติของสี เช่น การกันความชื้น การป้องกันเชื้อรา และความสามารถในการยึดเกาะ
1.3 ตรวจสอบการเตรียมพื้นผิว
- งานฉาบผนังต้องเรียบเสมอกัน ไม่มีรอยต่อที่เห็นชัด
- หากเป็นผนังเก่าต้องทำความสะอาด และลอกสีเดิมที่เสื่อมสภาพออกก่อน
- หากมีรอยแตกร้าว ควรซ่อมแซมด้วยวัสดุอุดรอยร้าวก่อน
2. การตรวจสอบระหว่างงานทาสี
2.1 ตรวจสอบการลงสีรองพื้น (Primer Coat)
- ต้องใช้สีรองพื้นที่เหมาะสมกับประเภทของพื้นผิว
- ตรวจสอบการทาให้ทั่วถึง ไม่มีจุดที่พลาดหรือบางเกินไป
- สีรองพื้นต้องแห้งสนิทก่อนลงสีจริง (มี Drying Time ตามที่ผู้ผลิตระบุ)
2.2 ตรวจสอบการทาสีจริง (Top Coat)
- ต้องทาสีอย่างน้อย 2 ชั้น หรือมากกว่าตามที่กำหนด
- ตรวจสอบเฉดสี ต้องตรงกับที่ระบุไว้ในแบบและต้องไม่มีความแตกต่างของเฉดสีในจุดต่างๆ
- ตรวจสอบเทคนิคการทา เช่น การใช้ลูกกลิ้งหรือแปรง ต้องทำให้สีเรียบเนียน ไม่มีรอยเส้นแปรง
2.3 ตรวจสอบสภาพอากาศระหว่างทาสี
- ไม่ควรทาสีขณะฝนตก หรืออากาศชื้นเกินไป
- อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการทาสีอยู่ระหว่าง 10-35°C
3. การตรวจสอบหลังทาสีเสร็จ
3.1 ตรวจสอบความเรียบเนียนของสี
- สีต้องไม่มีฟองอากาศ ฟองน้ำ หรือเม็ดทราย
- ผนังต้องไม่มีรอยด่าง รอยหยดน้ำ หรือคราบสีที่ไหลเป็นทาง
3.2 ตรวจสอบเฉดสี และความสม่ำเสมอ
- ต้องไม่มีความแตกต่างของสีในแต่ละจุด
- ใช้แสงไฟหรือแสงธรรมชาติเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกจุดมีสีที่กลมกลืนกัน
3.3 ตรวจสอบความทนทานของสี
- ทดสอบความแข็งแรงของสีด้วยการใช้เทปกาวแปะที่ผนังแล้วดึงออก สีไม่ควรหลุดติดออกมา
- ทดสอบการเช็ดทำความสะอาด สีต้องไม่หลุดล่อนหรือเปลี่ยนสี
3.4 ตรวจสอบรายละเอียดรอบๆ งานสี
- ขอบมุมของผนัง และเพดานต้องมีเส้นที่คมชัด ไม่มีรอยเปื้อน
- ตรวจสอบพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ปลั๊กไฟ ขอบหน้าต่าง ไม่ควรมีคราบสีเปื้อน
สรุป
การตรวจสอบงานทาสีอาคารไม่เพียงแต่ช่วยให้สีของอาคารสวยงามตามแบบ แต่คุณภาพของสีที่ดียังช่วยสร้างให้เกิดความเรียบเนียนของพื้นผิวอาคาร และเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะของสีต่อพื้นผิวอาคารที่คงทน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของสี การมีที่ปรึกษาหรือผู้ควบคุมงานที่เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมพื้นผิว การเลือกใช้สี ไปจนถึงเทคนิคการทา จะช่วยให้มั่นใจได้ว่างานทาสีมีคุณภาพสูง ลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้อาคารดูสวยงาม คงทน ในระยะยาว
เราแนะนำคลิปเพิ่มเติม >>> ความสำคัญของ CM หรือคอนเซาท์ในงานก่อสร้าง ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค วิศวะการันตี
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?