บริการตรวจสอบงานก่อสร้าง

1.2.1 บริการตรวจสอบงานก่อผนัง และงานมุงหลังคา

ทำให้โครงการก่อสร้างของคุณ

มั่นใจได้ว่าสร้างตามหลักวิศวกรรม

หลังคา และผนังเป็นตัวช่วยกันแดดกันฝน รวมถึงกันความร้อนไม่ให้เข้าสู่ภายในตัวอาคารได้ งานติดตั้งหลังคา และผนังประกอบด้วยงานที่มีขั้นตอนและรายละเอียดที่ต้องใส่ใจป็นอย่างมาก ซึ่งทางคอนเซาท์วิศวะก็มีบริการตรวจสอบงานก่อผนัง และงานมุงหลังคาด้วย

WHY US

ทีมวิศวกรผู้มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการจัดการงานก่อสร้าง ให้คอนเซาท์ก่อสร้างได้ช่วยดูแลบ้านของคุณ.

1.2.1 บริการตรวจสอบงานก่อผนัง และงานมุงหลังคา

บริการตรวจสอบงานก่อผนัง

หลังคา และผนังเป็นตัวช่วยกันแดดกันฝน รวมถึงกันความร้อนไม่ให้เข้าสู่ภายในตัวอาคารได้ งานติดตั้งหลังคา และผนังประกอบด้วยงานที่มีขั้นตอนและรายละเอียดที่ต้องใส่ใจป็นอย่างมาก ซึ่งทางคอนเซาท์วิศวะก็มีบริการตรวจสอบงานก่อผนัง และงานมุงหลังคาด้วย

ในการสร้างบ้านหรือโครงการก่อสร้างอื่นๆ การตรวจสอบงานก่อผนัง และงานมุงหลังคาถือเป็นจุดที่สำคัญ การทำงานในขั้นตอนนี้จะกำหนดความปลอดภัย และความคงทนของตัวอาคาร เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การรั่วซึม หรือผนังร้าว คอนเซาท์หรือผู้ควบคุมงานก่อสร้างจึงมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ และควบคุมงานในขั้นตอนนี้ เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ตรงตามแผนที่กำหนด และผู้อยู่อาศัยสามารถใช้งานอาคารได้อย่างมีความสุข

งานมุงหลังคา

มาตรฐาน และข้อกำหนดในการมุงหลังคา

  1. ให้ใช้กระเบื้อง แผ่นเมทัลชีท รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการติดตั้ง ตรงตามที่ระบุในแบบ
  2. ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมวัสดุมุงหลังคา

วิธีการดำเนินการติดตั้งวัสดุมุงหลังคา 

  1. การจัดระแนงแปเหล็ก การมุงแผ่นหลังคา การทำตะเข้รางน้ำ การติดตั้ง FLASHING การทำทับหลังปูน ทั้งหมดที่กล่าวมาให้ปฏิบัติตามรูปแบบที่กำหนด และเป็นไปตามมาตราฐานของผลิตภัณฑ์ตามที่ระบุในแบบ
  2. ในกรณีที่มีปีก ค.ส.ล. ให้เทคอนกรีตปีก ค.ส.ล. ยื่นจากไม้ทับเชิงชายอีก 8 ซม. เพื่อปิดปลายวัสดุมุง พร้อมฉาบปูน และตกแต่งให้เรียบร้อยก่อนมุงหลังคาโดยที่ระยะห่างของท้องปีกนก ค.ส.ล.ถึงเหล็กจันทันเมื่อฉาบปูนเสร็จควรอยู่ระหว่าง 0.095-0.115 ม. ส่วนชายคาทุกด้านควรติดกันนกของผู้ผลิตให้ครบทุกลอนโดยเฉพาะด้านชิดผนังปูน
  3. การหล่อปีกนก คสล. ให้ได้แนว และระดับสม่ำเสมอกัน ควรปฏิบัติดังนี้
    1. ติดตั้งโครงหลังคาให้ถูกต้อง และเก็บรอยเชื่อม งานสีให้เรียบร้อย
    2. ตรวจสอบ และกำหนดค่าระดับของปีกนก คสล. ให้ถูกต้องก่อนทำงาน โดยท้องปีกนกที่ฉาบแล้วควรอยู่สูงกว่าระดับหลังเหล็กจันทัน ประมาณ 9.5 – 11.5 ซม. 
    3. การยึดปีกนก คสล. ให้ปฏิบัติตามที่ระบุในมาตรฐานงานก่อสร้าง
    4. ปีกนก คสล. ต้องใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในการผสมคอนกรีตโครงสร้างเท่านั้น 
    5. ต้องฉาบปีกนก ผนังรอบบน และผนังโดยรอบให้เสร็จก่อนที่จะเริ่มมุงหลังคา
    6. ปีกนกที่หล่อ และฉาบปูนแล้ว ต้องหล่อได้แนว และระดับเดียวกันตลอดแนวไม่คดงอ มีช่องว่างระหว่างใต้ปีกนก กับหลังคาสม่ำเสมอ
    7. ปลายปีกนก (ด้านข้าง) ที่หล่อ และฉาบปูนแล้ว ต้องยื่นออกจากไม้ทับเชิงชายอีกประมาณ 8 ซม.เพื่อปิดปลายกวัสดุมุงหลังคา
    8.  แผ่นฟรอยล์กันความร้อน(ถ้ามี) ควรติดตั้ง และเก็บปลายแผ่นให้เรียบร้อยก่อนปิดหลังคา
    9.  หากมีข้อสงสัยในการทำงานให้ปรึกษาวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อนจะที่ลงมือทำงานทุกครั้ง 
  4. การเตรียมงานของผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร
    1. ฉาบปูนผนังรอบข้าง ส่วนเหนือหลังคา ก่อนมุงหลังคา
    2. ติดตั้งไม้เชิงชาย, ไม้ปั้นลม ให้เสร็จก่อนมุงหลังคา
  5. ทันทีที่ติดตั้งโครงหลังคาเหล็กเสร็จ และทาสีกันสนิมอย่างทั่วถึง ผู้รับเหมาจะต้องมุงหลังคาให้เสร็จโดยเร็ว
  6. แผ่นสะท้อนความร้อน(ถ้ามี) ต้องปิดคลุมเหล็กโครงหลังคาทั้งหมดรวมทั้งบริเวณหน้าบัน, หน้าจั่วให้ติดตั้งฟรอยด์ระหว่างเหล็กโครงหลังคากับแป และยึดให้แข็งแรงก่อนที่จะปิดแผ่นไม้เฌอร่า ทั้งนี้ฟรอยด์ต้องไม่มีการฉีกขาด และการติดตั้งให้เป็นไปตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
  7. การมุงหลังคา ต้องได้แนว ไม่แตกหัก หรือบิ่น หรือฉีก และต้องไม่เลอะสีคราบน้ำปูน
  8. ในกรณีหลังคาเลอะ เปื้อน ห้ามไม่ให้ใช้สีทาทับกระเบื้องที่เลอะโดยเด็ดขาด
  9. เพื่อป้องกันปัญหาการแตกบิ่น เลอะเปื้อนคราบน้ำปูน ควรปฏิบัติดังนี้
    1. ต้องฉาบปูนแผงที่อยู่ด้านบน/ข้างของงานมุงหลังคาให้เสร็จก่อน จึงเริ่มมุงหลังคา เพื่อกันการเปื้อนปูนฉาบ 
    2. ต้องปูแผ่นพลาสติก ผ้าใบบนวัสดุมุงหลังคาก่อนการทาสีทุกครั้ง ทั้งนี้หากต้องมีการซ่อมงานปูนเหนือหลังคาที่มุงแล้ว ต้องปูแผ่นพลาสติก ผ้าใบบนหลังคาก่อนการฉาบปูนเช่นกัน 
    3. หากจำเป็นต้องทำงานบนหลังคาที่มุงกระเบื้องแล้ว ต้องระวังอย่าทำให้เกิดการแตก หัก บิ่น ฉีกขาดของวัสดุมุงหลังคา หากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้รับเหมาต้องเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาแผ่นใหม่ 
    4. หากวัสดุมุงหลังคา เปื้อนน้ำปูน สี ต้องทำความสะอาดทันที ห้ามใช้สีทาทับ ทั้งนี้หากไม่สามารถเช็ดรอยเปื้อนออก ต้องทำการเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาแผ่นใหม่ 
    5. หากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาใหม่ ต้องทำการทดสอบการรั่วซึมของหลังคาอีกครั้ง โดยผู้รับเหมาต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และเวลาที่เสียไปทั้งหมด 
    6. ขณะทำงาน หากมีเศษวัสดุที่เหลือใช้ ห้ามโยนออกมาทางหลังคา ควรเก็บรวมรวม และขนออกมาทิ้งด้านล่าง เพื่อป้องกันความเสียหายของวัสดุมุงหลังคา และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทำงานที่อยู่ด้านล่าง 
บริการตรวจสอบงานมุงหลังคา
รูปภาพตัวอย่างการตรวจดูระยะความห่างแป ซึ่งจะถูกกำหนดมาจากผู้ผลิตแผ่นหลังคาทุกประเภท

แนวทางการตรวจสอบงานมุงหลังคา

ก่อนมุงหลังคา 

  1. ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงหลังคา เช่น ขนาดเหล็ก, รอยเชื่อม และสีกันสนิมที่โครงหลังคาให้เรียบร้อย
  2. ตรวจสอบความได้ฉากของโครงหลังคา
  3. ตรวจสอบความลาดชันของหลังคาตามมาตรฐาน
  4. ตรวจสอบระดับหลังจันทัน ควรต่างกันไม่เกิน 5 มิลลิเมตร
  5. ตรวจสอบระดับไม้เชิงชาย ไม้บัวเชิงชาย ไม้ปั้นลม ระยะห่างของร่องตะเข้ราง
  6. ตรวจสอบการติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อนให้เรียบร้อย
  7. ตรวจสอบระยะแปคู่สันหลังคา และระยะแปกลางผืนหลังคาตามมาตรฐาน
  8. ตรวจสอบระยะทาบแป ถ้าต่อบริเวณหลังจันทัน ระยะทาบ 5 ซม. ถ้าต่อระหว่างจันทันระยะทาบอย่างน้อย 20 ซม.
  9. ตรวจสอบการฉาบปูนส่วนที่อยู่เหนือหลังคาให้เรียบร้อยก่อนมุงแผ่นหลังคา
  10. กรณีที่ใช้ระบบครอบผนัง ต้องตรวจสอบผิวผนังฉาบต้องเรียบ ผิวผนังต้องไม่มีรอยร้าว ไม่เป็นคลื่น ไม่มีการทาสี และวัสดุอื่นปูทับ
บริการตรวจสอบงานมุงหลังคา
รูปภาพตัวอย่าง การตรวจระยะต่างๆ จากรูปคือความสูงของดั้งหลังคา

ระหว่างการมุงหลังคา 

  1. ตรวจสอบการใส่แผ่นปิดรอยต่อ, แผ่นปิดหัวรางน้ำ ให้เรียบร้อย
  2. ตรวจสอบการเจาะรูระบายน้ำที่แนวสันหลังคา

หลังการมุงหลังคา 

  1. ตรวจสอบแนวหลังคา, การใส่ และยึดวัสดุมุงให้แข็งแรงตามมาตรฐานผู้ผลิต
  2. ตรวจสอบการก่อปูนทรายครอบสันหลังคา และครอบตะเข้สัน และทาสีให้เรียบร้อย
  3. ตรวจสอบการติดตั้งแผ่นปิดเชิงชาย
บริการตรวจงานมุงหลังคา
รูปภาพตัวอย่างตรวจสอบระหว่างมุงหลังคาประเภทเมทัลชีท ซึ่งต้องตรวจสอบการยิงสกรูของช่างให้ดีว่าไม่ได้ยิงแบบเดาสุ่ม ต้องยิงตามไลน์ของเหล็กแปด้านล่างเท่านั้น รวมถึงระยะการ Lapping (ทับกัน) ของหลังคาตามมาตรฐานผู้ผลิต

บริการตรวจสอบงานก่อผนัง เราตรวจอย่างไร?

มาตรฐาน และข้อกำหนดในการก่อผนัง

  1. วัสดุก่อผนัง สเปค และขนาดตามแบบระบุ ไม่แตกหัก บิ่น มีรอยร้าว
  2. ปูนก่อตามมาตรฐาน และข้อตกลง
  3. ปูนฉาบตามมาตรฐาน และข้อตกลง
  4. ปูนฉาบผิวบาง (Skim Coat) (ถ้ามี) ต้องใช้ตามมาตรฐาน และข้อตกลง

วิธีการดำเนินของบริการตรวจสอบงานก่อผนัง

  1. กำหนดแนว และระดับที่จะก่อผนัง แล้วขึงเส้นเอ็นเพื่อกำหนดแนวอ้างอิงของการก่อผนัง
  2. ผสมปูนทรายทั่วไปสำหรับปรับระดับพื้นก่อนก่ออิฐชั้นแรก และผสมปูนก่อโดยใส่น้ำก่อน แล้วใส่ปูนตาม ผสมให้เข้ากัน
  3. วางปูนทรายทั่วไป ลงบนพื้นตามแนวก่อ ความหนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร
  4. ป้ายปูนก่อตามแนวยาวของอิฐ และด้านข้างเสาโครงสร้างด้วยเกรียงก่อ แล้วยกอิฐวางลงบนปูนทรายปรับระดับที่วางไว้แล้ว 
  5. ใช้ค้อนยาง และระดับน้ำช่วยปรับแต่งแนวก่อผนังให้ได้ระดับทั้งแนวดิ่ง และแนวระนาบ ป้ายปูนก่อที่ด้านข้างก้อน แล้วก่อก้อนต่อไปในลักษณะเดียวกัน
  6. ก่อผนังในชั้นที่ 2 โดยให้แนวรอยต่อมีระยะเยื้องกันไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร
  7. ถ้าหากต้องตัดอิฐให้ใช้เครื่องมือตามที่ผู้ควบคุมงานอนุมัติ
  8. เมื่อจะเริ่มก่อชั้นที่ 3 ให้ขูดหลังอิฐเพื่อยึด Metal Strap ด้วยการเจาะรูเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ลึก 6 เซนติเมตร ใส่พุก พร้อมสกรู หรือใช้เหล็กหนวดกุ้งแทนตามมาตรฐาน โดยต้องเจาะยึดเข้ากับเสาโครงสร้าง ลึกไม่น้อยกว่า 6 เซนติเมตร ยึดประสานด้วยปูนก่อ
  9. ก่อบอิฐก้อนต่อๆ ไป โดยวิธีการเดียวกัน ในข้อ 4-8 จนเกือบถึงระดับท้องคาน
  10. เมื่อก่อผนังไปจนถึงระดับท้องพื้น หรือคาน ให้เว้นระยะไว้ 2-3 เซนติเมตร ทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง แล้วอุดด้วยปูนทราย หรือโฟมให้แน่น(ตามที่ผู้ควบคุมงานอนุมัติ)
  11. หากพื้นที่การก่อผนังมากกว่าที่กำหนดในมาตรฐาน ให้ทำเสา-คานเอ็น คสล. ตามข้อกำหนดด้วย
  12. ในกรณีมีโครงสร้างเหล็กอะเสรับโครงหลังคาเหล็กชั้นบน เมื่อก่อผนังถึงแถวสุดท้ายให้เว้นช่องว่างระหว่างหลังอิฐกับท้องเหล็กอะเสไว้ประมาณ 15 ซม. สำหรับเข้าแบบเทเอ็นทับหลัง คสล. หนา 12 ซม. โดยเหลือช่องว่างระหว่างหลังเอ็นทับหลัง คสล. กับท้องเหล็กอะเสไว้ประมาณ 3 ซม. เพื่อกันผลกระทบจากการขยายตัว
บริการตรวจสอบงานก่อผนัง
รูปภาพตัวอย่าง การทำเส้นไลน์การก่อผนังเพื่อตรวจสอบก่อนการเริ่มก่อจริง ป้องกันการทุบรื้อหากก่อไปแล้วและพบว่าผิดหรือช่างมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไป

แนวทางการบริการตรวจสอบงานก่อผนัง

  1. ระยะเสาเอ็น และคานเอ็น คสล. ต้องตามมาตรฐาน และข้อกำหนด
  2. ยึดผนังเข้ากับเสาโครงสร้างหรือเสาเอ็น คสล. มาตรฐาน
  3. ป้ายปูนก่อที่อิฐก่อนวางปูนทรายในแนวก่อ
  4. ใช้ปูนทรายปรับระดับที่ความหนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร
  5. ใช้ปูนก่อตามมาตรฐานงานก่อของวัสดุอิฐที่ใช้ ป้ายทั้งแนวตั้ง และแนวนอน
  6. ระยะเยื้องระหว่างอิฐแต่ละชั้นไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร เพื่อการกระจายแรงตามมาตรฐาน
  7. เหล็กหนวดกุ้ง ใช้เหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร X 15 เซนติเมตร ทุกระยะ 40 เซนติเมตร หรือตามที่ผู้ออกแบบกำหนด
  8. ปาดปูนส่วนเกินออกก่อนที่จะแข็งตัว
  9. อิฐที่แตกร้าวชำรุด ต้องอุดให้แน่นด้วยปูนก่อ
  10. เซาะร่องลึกได้ไม่เกิน 1/3 ของความหนา
  11. ติดลวดตาข่ายตามมาตรฐานตลอดแนวก่อนฉาบ
  12. ใช้ปูนฉาบ ตามมาตรฐาน และข้อตกลง ตรงตามที่กำหนดในแบบ และ BOQ.
บริการตรวจสอบงานก่อผนัง
รูปภาพตัวอย่าง การทำเสาเอ็น-ทับหลัง ไปกับงานก่อผนังด้วย เป็นเสมือนคาน-เสา ตัวย่อยๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับแผงผนัง ซึ่งมีข้อกำหนดในการทำเสาเอ็น-ทับหลัง ทั้งจากผู้ผลิตอิฐ และจากทาง วสท.
บริการตรวจสอบงานก่อผนัง
รูปภาพตัวอย่างการเจาะเสียบเหล็กหนวดกุ้งพ่อเตรียมหล่อเสาเอ็น ซึ่งขนาดของเสาเอ็นควรมีการดูตามข้อกำหนดของขนาดความหนากำแพงและชนิดอิฐที่ใช้ก่อ

ตารางแสดงมาตรฐานแนวดิ่ง และแนวราบในงานก่ออิฐฉาบปูน

ประเภทงาน ความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้ในแนวดิ่ง ความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้ในแนวราบ 
งานก่ออิฐ 0.5 ซม./ความสูงผนัง 3 เมตร มองเห็นเป็นเส้นตรงในแนวระนาบ 
งานฉาบปูน 0.5 ซม./ความสูงผนัง 3 เมตร …0.5 ซม./ความกว้างผนัง 4 เมตร 
กำหนดให้การฉาบเสาคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 0.5 ซม./ความสูง 3 เมตร
บริการตรวจสอบงานก่อผนัง
รูปภาพตัวอย่าง การเช็คแนวของผนังที่ก่อไปว่ามีความล้มของผนังก่อหรือไม่เพื่อประเมินความหนาในการฉาบ เพราะว่าหากฉาบหนาเกินไปจะทำให้ผนังมีโอกาสร่อนร้าวสูงในอนาคต
บริการตรวจสอบงานก่อผนัง
รูปภาพตัวอย่าง การใส่ตะแกรงกรงไก่ ก่อนการฉาบซึ่งควรใส่ในกรณีตรงจุดที่เป็นรอยต่อระหว่าง เสาเอ็น-ทับหลัง และตัวอิฐ ทั้งนี้หากตรวจการล้มดิ่งของผนังก่อแล้วหากพบว่าจะต้องมีการฉาบหนาเกินกว่าค่าที่ผู้ผลิตแนะนำ ก็ควรใส่ตะแกรงกรงไก่ด้วย

สรุปความสำคัญของการตรวจสอบงานก่อผนัง-มุงหลังคา 

การตรวจสอบงานก่อผนัง และงานมุงหลังคา ต้องมีความละเอียดรอบคอบในทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ปัญหาจากการรั่วซึมของน้ำเข้ามาในบ้าน หรือผนังร้าวที่ให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นต้น ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในทุกด้าน การปฏิบัติตามมาตรฐาน และข้อกำหนดที่ถูกต้องในทุกขั้นตอน เพื่อให้โครงการก่อสร้างเป็นไปอย่างราบรื่น ได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูงสุด และผู้อยู่อาศัยสามารถใช้งานอาคารได้อย่างมีความสุข

ดูคลิป CM หรือ คอนเซาท์ในงานก่อสร้าง ช่วยอะไรคุณได้บ้าง? ได้ที่เพจเฟซบุ๊ค วิศวะการันตี

หากท่านอยากใช้บริการตรวจสอบงานก่อผนัง และงานมุงหลังคา ก็สามารถติดต่อเราได้ตามช่องทางการติดต่อด้านล่างได้เลยครับ

หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี

อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?

รูปตัวอย่างการตรวจภาคสนามของเรา