รายการคำนวณโครงสร้าง (Structural Calculation Report) เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการออกแบบโครงสร้างอาคาร เพื่อใช้ในการตรวจสอบหลักการคำนวณ และทำให้มั่นใจว่าอาคารสามารถรับน้ำหนัก และแรงต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ยังเป็นเอกสารบังคับสำหรับการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะในอาคารที่มีลักษณะ ขนาด และความสูงที่เข้าข่ายอาคารควบคุมตามกฎหมายควบคุมอาคาร รายการคำนวณโครงสร้างต้องถูกจัดทำขึ้นโดยวิศวกรโครงสร้างที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพื่อรับรองความปลอดภัยตามกฎหมายควบคุมอาคาร
ความสำคัญของการคำนวณโครงสร้าง
1. รับรองความปลอดภัยของโครงสร้าง ช่วยให้แน่ใจว่าอาคารมีความมั่นคงแข็งแรง และสามารถรับน้ำหนักได้
2. ช่วยในการออกแบบ และวางแผนการก่อสร้าง ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับขนาดโครงสร้าง การเสริมเหล็ก และคุณสมบัติวัสดุตามประเภทของวัสดุที่ต้องใช้
3. เป็นเอกสารบังคับสำหรับการขออนุญาตก่อสร้าง เป็นหลักฐานยืนยันว่าอาคารออกแบบตามมาตรฐานวิศวกรรม สามารถตรวจสอบได้
4. ป้องกันปัญหาในการก่อสร้าง ลดความเสี่ยงจากการใช้วัสดุผิดประเภท หรือการก่อสร้างที่ผิดจากหลักวิศวกรรม
องค์ประกอบของการคำนวณโครงสร้าง
การคำนวณโครงสร้างต้องครอบคลุมทุกองค์ประกอบของอาคารที่เกี่ยวข้องกับการรับน้ำหนัก และความมั่นคงของโครงสร้าง ในที่นี้จะขออธิบายเป็นภาพรวม เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่ได้เป็นวิศวกรสามารถเข้าใจได้ง่าย ได้แก่
1. ข้อมูลทั่วไปของโครงการ
1.1 รายละเอียดโครงการ เช่น ชื่อโครงการ สถานที่ก่อสร้าง เจ้าของโครงการ
1.2 ข้อมูลของวิศวกรผู้ออกแบบ ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง ประเภท หรือระดับใบอนุญาต และเลขที่ใบอนุญาตของวิศวกรโครงสร้าง
1.3 มาตรฐานที่ใช้ในการออกแบบ เช่น มาตรฐานวิศวกรรมโครงสร้างของประเทศไทย (TIS), ACI, ASCE หรือ Eurocode เป็นต้น
2. รายการคำนวณการรับน้ำหนัก
2.1 ภาระใช้งาน (Live Load) คือ น้ำหนักของอาคารตามประเภทใช้งานของอาคาร น้ำหนักเฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์ภายในอาคาร บางที่เรียก น้ำหนักจร
2.2 น้ำหนักคงที่ (Dead Load) คือ น้ำหนักของวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต เหล็ก เสา พื้น และหลังคา
2.3 ภาระจากลม (Wind Load) คือ แรงลมที่กระทำต่อโครงสร้างอาคาร
2.4 ภาระจากแผ่นดินไหว (Seismic Load) คือ การออกแบบจำเป็นต้องมีการคำนวณเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
2.5 ภาระพิเศษอื่นๆ เช่น แรงดันดิน(ในโครงสร้างใต้ดิน) แรงดันจากน้ำ หรือแรงกระแทก
3. รายการคำนวณฐานราก
3.1 การคำนวณค่ารับน้ำหนักของดิน (Soil Bearing Capacity)
3.2 ประเภทของฐานราก เช่น ฐานรากแผ่ (Spread Footing), เสาเข็มตอก (Driven Piles), เสาเข็มเจาะ (Bored Piles)
3.3 ขนาดฐานราก และการกระจายน้ำหนัก

4. รายการคำนวณโครงสร้างเสา และคาน
4.1 ขนาด และหน้าตัดของเสา และคาน
4.2 การเสริมเหล็ก ระยะ และตำแหน่งของเหล็กเสริม
4.3 การออกแบบองค์อาคารให้รองรับแรงกด แรงดึง และแรงดัด
5. รายการคำนวณแผ่นพื้น และหลังคา
5.1 ประเภทของพื้น เช่น พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก(RC Slab), พื้นสำเร็จรูป(Precast Slab)
5.2 ขนาด และความหนาของพื้น
5.3 การเสริมเหล็ก ระยะ และตำแหน่งของเหล็กเสริม
5.4 การกระจายน้ำหนัก และระยะคานรองรับพื้น

6. รายการคำนวณโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ
6.1 การออกแบบโครงหลังคา และโครงสร้างเหล็กที่รับแรงดึง และแรงดัด
6.2 ขนาด และประเภทของเหล็กที่ใช้ เช่น H-Beam, I-Beam, C-Channel
6.3 การออกแบบรอยเชื่อม การติดตั้ง จุดต่อ หรือรอยต่อเหล็ก
กระบวนการจัดทำรายการคำนวณโครงสร้าง
1. วิเคราะห์ และกำหนดภาระน้ำหนัก
วิศวกรต้องกำหนดค่าภาระน้ำหนักที่โครงสร้างแต่ละชิ้นต้องรองรับ รวมถึงแรงลม และแรงแผ่นดินไหว หรือแรงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างนั้นๆ
2. การคำนวณด้วยโปรแกรมวิศวกรรม
ปัจจุบันการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยในการคำนวณเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง สามารถคำนวณ และวิเคราะห์โครงสร้างได้หลายมิติมากขึ้น เช่น ETABS, SAFE, STAAD.Pro, SAP2000, Robot และอื่นๆ ตามความถนัดของวิศวกรผู้ใช้งาน
3. การตรวจสอบความถูกต้องของผลการคำนวณ
วิศวกรต้องตรวจสอบผลการคำนวณให้สอดคล้องกับ มาตรฐานทางวิศวกรรม และตรวจสอบ ความเป็นไปได้ของการก่อสร้างจริง ด้วยองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม และประสบการณ์ของวิศวกรผู้ออกแบบ
4. การจัดทำรายงาน และลงนามรับรอง
จัดทำเอกสารให้ครบถ้วน พร้อมลงนามรับรองโดยวิศวกรโครงสร้างที่มีใบประกอบวิชาชีพระดับภาคีวิศวกรขึ้นไป ตามข้อกำหนดของกฎหมายควบคุมอาคาร และหน่วยงานท้องถิ่น
ข้อควรระวัง
1. หลีกเลี่ยงการใช้แบบคำนวณที่ไม่ได้มาตรฐาน รายการคำนวณต้องจัดทำโดยวิศวกรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีความรู้ความชำนาญในการออกแบบโครงสร้าง เท่านั้น
2. อย่าละเลยกฎหมายควบคุมอาคาร ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิศวกรรม และกฎกระทรวงอย่างเคร่งครัด
3. ตรวจสอบความถูกต้องก่อนยื่นขออนุญาต ลดปัญหาการถูกตีกลับ หรือแก้ไขเอกสารซ้ำซ้อน
4. เลือกระบบโครงสร้างให้เหมาะสมกับลักษณะของอาคาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้าง และบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสมพอดี ไม่ใช้วัสดุก่อสร้างที่มาก หรือน้อยเกินไป
สรุป
การจัดทำการคำนวณโครงสร้าง เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญทั้งในแง่ของการออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรง และเป็นเอกสารประกอบการขออนุญาตก่อสร้าง ที่ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารได้ เจ้าของโครงการควรใช้บริการจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน ประหยัด และไม่มีปัญหาในระยะยาว
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?
#รายการคำนวณโครงสร้าง #ขออนุญาตก่อสร้าง #วิศวกรโครงสร้าง #ออกแบบโครงสร้างอาคาร #StructuralCalculation #การคำนวณโครงสร้าง #ควบคุมงานก่อสร้าง #วิศวกรคอนเซาท์ #แบบก่อสร้างมาตรฐาน