แบบสำหรับการก่อสร้าง (Construction Drawing) หรือที่มักเรียกกันว่า “แบบก่อสร้างจริง” คือ เอกสารสำคัญที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนที่ออกแบบไว้ แบบก่อสร้างตัวจริงมีความละเอียดมากกว่าแบบขออนุญาตก่อสร้าง เพราะต้องมีข้อมูลครบถ้วนที่ใช้สำหรับการดำเนินงานในไซต์งาน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม โครงสร้าง งานระบบ รายการวัสดุ ขนาด และมิติขององค์ประกอบต่างๆ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง
ดังนั้น การจัดทำแบบก่อสร้างตัวจริงให้ถูกต้อง และครบถ้วน จะช่วยลดข้อผิดพลาดในงานก่อสร้าง ประหยัดเวลา และงบประมาณ รวมถึงช่วยให้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างราบรื่น ตามมาตรฐานที่กำหนด
ความแตกต่างระหว่างแบบขออนุญาตก่อสร้าง และแบบก่อสร้างจริง
รายละเอียด | แบบขออนุญาตก่อสร้าง | แบบก่อสร้างจริง (Construction Drawing) |
---|---|---|
วัตถุประสงค์ | ใช้สำหรับยื่นขออนุญาตก่อสร้างกับหน่วยงานท้องถิ่น | ใช้เป็นแนวทางสำหรับการก่อสร้างจริง |
รายละเอียด | มีรายละเอียดพื้นฐานตามกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบ | มีรายละเอียดเชิงลึก เพื่อใช้ในงานก่อสร้าง |
องค์ประกอบของแบบ | แบบแปลน, รูปด้าน, รูปตัด, รายละเอียดโครงสร้าง, งานระบบ และรายการคำนวณ | เพิ่มเติมจากแบบขออนุญาต โดยจะมีรายละเอียดของแบบทุกองค์ประกอบ และรายการประกอบแบบอย่างละเอียด |
การใช้งาน | ใช้ยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานเขตพื้นที่ เทศบาล หรือ อบต. | ใช้อ้างอิงข้อตกลงงานก่อสร้าง โดยเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา วิศวกร และทีมงานก่อสร้าง |
องค์ประกอบสำคัญของแบบก่อสร้างตัวจริง (Construction Drawing)
การจัดทำแบบก่อสร้างตัวจริง ต้องครอบคลุมข้อมูลหลักทุกด้านอย่างละเอียด เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน และตามข้อตกลง องค์ประกอบสำคัญของแบบก่อสร้างตัวจริง ได้แก่
1. แบบสถาปัตยกรรม
1. ผังบริเวณ แสดงตำแหน่งอาคาร ขอบเขตที่ดิน และพื้นที่รอบข้าง
2. แปลนพื้น แสดงตำแหน่งห้อง ช่องเปิด และการใช้พื้นที่ภายในอาคาร
3. รูปด้าน แสดงลักษณะภายนอกของอาคารแต่ละด้าน
4. รูปตัด/รูปขยาย แสดงรายละเอียดภายในของอาคารในบริเวณที่ต้องการแสดงรายละเอียด
5. รายละเอียดงานตกแต่ง เช่น บานประตู หน้าต่าง บันได ฯลฯ
2. แบบโครงสร้าง
1. รายละเอียดฐานราก แสดงขนาดฐานราก การรับน้ำหนัก และการเสริมเหล็ก
2. รายละเอียดโครงสร้างเสา คาน พื้น และหลังคา ระบุขนาด รายละเอียดของงาน และวัสดุที่ใช้

3. แบบระบบไฟฟ้า และสื่อสาร
1. ผังไฟฟ้าภายในอาคาร แสดงรายละเอียด ตำแหน่งปลั๊กไฟ สวิตช์ ระบบแสงสว่าง และแนวการเดินระบบ
2. ผังเดินสาย LAN และระบบสื่อสาร ระบุจุดติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ต กล้องวงจรปิด ฯลฯ
4. แบบระบบประปา และสุขาภิบาล
1. ผังระบบน้ำดี และน้ำเสีย แสดงทิศทางการไหล และการเดินท่อของน้ำภายในอาคาร รวมถึงอุปกรณ์ประกอบต่างๆ
2. รายละเอียดการติดตั้งสุขภัณฑ์ ตำแหน่งและสเปคก๊อกน้ำ อ่างล้างหน้า บ่อพัก และบ่อบำบัด

5. แบบระบบปรับอากาศ และระบายอากาศ
1. ตำแหน่งติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
2. ระบบระบายอากาศสำหรับพื้นที่ที่ต้องการ เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องพระ เป็นต้น
6. รายการประกอบแบบ และรายการคำนวณต่างๆ
1. รายการประกอบแบบ แสดงรายละเอียดวัสดุที่ใช้ ระบุยี่ห้อ ขนาด และมาตรฐานของวัสดุ
2. รายการคำนวณ เช่น เอกสารรายการคำนวณโครงสร้างของอาคาร, เอกสารแสดงการคำนวณขนาดโหลดไฟฟ้า เป็นต้น
ประโยชน์ของการจัดทำแบบก่อสร้างตัวจริงให้ครบถ้วน
1. ช่วยให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน ลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในไซต์งาน
2. ลดความขัดแย้งระหว่างผู้รับเหมา เจ้าของโครงการ และวิศวกร เนื่องจากมีแบบแปลนเป็นหลักฐานอ้างอิง
3. ช่วยบริหารงบประมาณ และควบคุมต้นทุน สามารถจัดทำ BOQ. ที่ชัดเจน ช่วยป้องกันค่าใช้จ่ายบานปลาย
4. ลดระยะเวลาการก่อสร้าง แบบที่ชัดเจนช่วยให้ทีมงานทำงานได้เร็วขึ้น ไม่เสียเวลารอ หรือแก้ไขแบบ
5. เพิ่มโอกาสในการตรวจสอบคุณภาพงานก่อสร้าง สถาปนิก และวิศวกรสามารถตรวจสอบงานให้เป็นไปตามแบบได้ง่ายขึ้น
แนวทางในการจัดทำแบบก่อสร้างจริงให้มีประสิทธิภาพ
1. จ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์
1. ควรให้สถาปนิก และวิศวกรที่เชี่ยวชาญ เป็นผู้จัดทำแบบก่อสร้าง
2. ตรวจสอบว่าสถาปนิก และวิศวกรที่ออกแบบ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
2. ตรวจสอบความถูกต้องของแบบแปลนทุกส่วน
1. ควรให้ทุกฝ่ายตรวจสอบแบบก่อนเริ่มก่อสร้าง เพื่อลดปัญหาการแก้ไขแบบระหว่างงาน
2. เปรียบเทียบแบบก่อสร้างตัวจริงกับ แบบขออนุญาต และ BOQ. ให้เห็นจุดสอดคล้อง และจุดต่างให้ชัดเจน

3. เลือกใช้ทีมที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่น่าเชื่อถือช่วยในการออกแบบ
1. ใช้ AutoCAD, Revit, SketchUp หรือ BIM เพื่อช่วยสร้างแบบก่อสร้างที่แม่นยำขึ้น และสามารถนำเสนอให้เจ้าของโครงการเข้าใจแบบก่อสร้างได้ในทุกมิติ
2. ระบบ BIM (Building Information Modeling) สามารถช่วยลดข้อผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของโครงการ ทีมออกแบบ และทีมก่อสร้าง

สรุป
แบบก่อสร้างตัวจริง (Construction Drawing) เป็นเอกสารสำคัญที่เป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินงานก่อสร้าง และช่วยให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน ประกอบไปด้วยแบบสถาปัตยกรรม, แบบโครงสร้าง, ระบบไฟฟ้า-ประปา และอื่นๆ ที่ต้องมีรายละเอียดที่ครบถ้วน โดยส่วนใหญ่ทีมออกแบบจะดำเนินการวางรูปแบบแปลน และทำ Concept Drawing ตามความต้องการของเจ้าของโครงการ และตามกรอบกฎหมายควบคุมอาคารก่อน เพื่อดำเนินการจัดทำแบบขออนุญาตก่อสร้างเพื่อยื่นขออนุญาตกับหน่วยงานก่อน เพราะต้องใช้เวลารอที่ค่อนข้างนาน ระหว่างนั้นก็จะเริ่มลงรายละเอียดกับแบบขออนุญาตมากขึ้น เพื่อพัฒนาแบบก่อสร้างที่ใช้ในการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างเจ้าของโครงการ และผู้รับเหมา ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่า แบบขออนุญาตก่อสร้าง กับแบบก่อสร้างตัวจริง ก็จะมีต้นทางเดียวกับ เพียงแต่แบบก่อสร้างตัวจริงจะมีรายละเอียดที่ลงลึกมากกว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจน และผู้รับเหมาสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามข้อตกลง
การมีแบบก่อสร้างที่ดีและครบถ้วนตั้งแต่ต้น ช่วยลดข้อผิดพลาดในการก่อสร้าง ประหยัดงบประมาณ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ ช่วยให้โครงการของคุณสำเร็จลุล่วงได้อย่างราบรื่น และลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ควรจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ เพื่อลดปัญหาข้อผิดพลาดจากแบบที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างก่อสร้าง
หรือติดตามพวกเราได้ที่ : เพจ : วิศวะการันตี
อยากรู้จักเรา : เราเป็นใคร?
#วิศวะการันตี
#ConstructionDrawing #แบบก่อสร้าง #แบบก่อสร้างตัวจริง #แบบสถาปัตยกรรม #แบบโครงสร้าง #BOQ #งานออกแบบก่อสร้าง #มาตรฐานงานก่อสร้าง #เอกสารก่อสร้าง #วางแผนก่อสร้าง